ถาม-ตอบ
ระบบการปลูกพืช
ถามเมื่อ 29 มกราคม 2563
ปลูกเมลอนในโรงเรือนและวางระบบน้ำหยดจ่ายจากถังน้ำ 200 ลิตร 4 ถังวางสูง 3 เมตร ขอสอบถามการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำตั้งแต่ปลูกต้นเล็กจนเก็บเกี่ยวครับ 1) ต้องใช้ปุ๋ยชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ จ่ายไปพร้อมน้ำกี่ลิตรต่อวัน 2) สามารถผสมธาตุอาหารรองเช่นปุ๋ยแคลเซียม 15-0-0 และ ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟตไปด้วยกันได้หรือไม่ ในอัตราเท่าไหร่ 3) ควรให้จุลธาตุไปกับระบบน้ำหรือใช้ฉีดพ่นแบบเดิม 4) จะป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟโดยใช้สารกำจัดแมลงประเภทดูดซึมเช่น อะบาเม็กตินลงไปกับระบบน้ำเลยได้หรือไม่ ขอบคุณมากครับ

ขออนุญาตตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ค่ะ - ใช้ปุ๋ยชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ จ่ายไปพร้อมน้ำกี่ลิตรต่อวัน คำตอบ : ควรให้ปุ๋ยเคมีทางน้ำ ด้วยระบบน้ำหยด เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ทำได้โดยการติดตั้งปั๊มปุ๋ยที่ส่วนต้นทางของระบบน้ำหยดก่อนเข้าสู่แปลงปลูก และผสมปุ๋ยลงในถังผสมขนาดใหญ่ 80-200 ลิตร เป็นต้น เมื่อจุ่มสายดูดจากปั๊มปุ๋ยลงในถังผสมปุ๋ยและปล่อยให้ปั๊มทำงานเพื่อดูดปุ๋ยเข้มข้นขึ้นไปผสมกับน้ำที่กำลังผ่านเข้าไปในแปลงปลูกสู่ต้นพืช กลายเป็นน้ำปุ๋ยเจือจาง หยดให้ต้นเมล่อนแต่ละต้นในความเข้มข้นดังนี้ ธาตุไนโตรเจน (N) 150 - 200 มก./ลิตร >> (ถัง 200 ลิตร = 30-40 กรัม) ธาตุฟอสฟอรัส (P) 30 - 50 มก./ลิตร >> (ถัง 200 ลิตร = 60-100 กรัม) ธาตุโปแตสเซียม (K) 150 - 200 มก./ลิตร >> (ถัง 200 ลิตร = 30-40 กรัม) ***ความเข้มข้นในถังปุ๋ยที่จะทำการผสมเพื่อดูดไปผสมกับน้ำแล้วได้ความเข้มข้นสุดท้ายเท่ากับที่ต้องการให้กับต้นเมล่อนนั้น จะขึ้นกับอัตราการดูดปุ๋ยของปั๊มปุ๋ย และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลงปลูกซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของปั๊มปุ๋ยที่ใช้ และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลง คำนวณจากจำนวนหัวน้ำหยดและอัตราการหยดต่อหัวร่วมด้วย ***ควรจ่ายน้ำเปล่าก่อน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ขณะที่กำลังจ่ายน้ำเปล่า (เมื่อครบ 15 นาที) ให้เปิดวาล์วที่ถังผสมสารละลายปุ๋ย ปล่อยปุ๋ยให้หมดถังโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วปิดวาล์ว จ่ายน้ำเปล่าอีกครั้ง ใช้เวลา 15 นาที เพื่อเป็นการชำระล้างท่อ หัวจ่ายน้ำ ตลอดจนเครื่องสูบน้ำด้วย ***ในช่วงหลังของการพัฒนาของผล ควรเพิ่มความเข้มข้นธาตุอาหารโปแตสเซียมให้มากขึ้นอีกเล็กน้อย (ก่อนเก็บเกี่ยว เพิ่มความหวานด้วยการใส่ปุ๋ยเกร็ดพ่นทางใบ 0-0-50 หรือให้ทางราก) และลดความเข้มข้นของไนโตรเจนที่ให้ไปพร้อมกับน้ำลงเพื่อเพิ่มความหวานให้แก่เมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันปุ๋ยน้ำสำเร็จรูปที่อยู่ในรูปผงที่ละลายน้ำได้มีการนำมาจำหน่ายแล้ว มีมากมายหลายสูตรแตกต่างกันไปตามบริษัทผู้ผลิต ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตทางใบและลำต้นก่อนการออกดอกติดผล ควรใช้สูตรปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง เช่น 20-20-20, 21-11- 21, 10-10-20 หรือสูตรใกล้เคียง เป็นต้น แต่ภายหลังเมื่อเริ่มออกดอกติดผลแล้ว ควรเปลี่ยนมาใช้สูตรปุ๋ยที่มีโปแตสเซียมสูงขึ้น เช่น 14-7-28, 12-5-40 หรือสูตรใกล้เคียง เป็นต้น ทั้งนี้ ความเข้มข้นในถังปุ๋ยที่จะทำการผสมเพื่อดูดไปผสมกับน้ำแล้วได้ความเข้มข้นสุดท้ายเท่ากับที่ต้องการให้กับต้นเมล่อนนั้น จะขึ้นกับอัตราการดูดปุ๋ยของปั๊มปุ๋ย และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลงปลูก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของปั๊มปุ๋ยที่ใช้ และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลง โดยคำนวณจากจำนวนหัวน้ำหยดและอัตราการหยดต่อหัว - สามารถผสมธาตุอาหารรอง เช่น ปุ๋ยแคลเซียม 15-0-0 และปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟตไปด้วยกันได้หรือไม่ ในอัตราเท่าไหร่ คำตอบ : ได้ค่ะ (อัตราการใช้ต้องคำนวณจากสูตรด้านบน และต้องทราบจำนวนต้นเมล่อนที่ปลูกร่วมด้วย) แคลเซียม (C) และแมกนีเซียม (Mg) ธาตุทั้งสองนี้เป็นธาตุที่พืชต้องการ ดังนั้นมีอยู่ในน้ำไม่มากนักก็จัดว่าเป็นธาตุอาหารที่สำคัญของพืช ทำให้เราประหยัดค่าปุ๋ยที่มีแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (M) ลงได้ แต่อย่างไรก็ตามน้ำบาดาลในบางพื้นที่เป็นน้ำกระด้างที่มีปริมาณแคลเซียมในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต (Caco3) และแคลเซียมไบคาร์บอเนต (C(HC03)2) ซึ่งเมื่อมีมากเกินไปจะก่อปัญหาอย่างมากกับการละลายตัวของปุ๋ยในน้ำ โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสและซัลเฟตเป็นองค์ประกอบจะเกิดการตกตะกอนอุดตันหัวปล่อยน้ำ ส่วนซัลเฟต (Sulphate) เป็นธาตุที่พืชต้องการ โดยทั่วไปในน้ำจะมีอยู่ไม่มากนัก และไม่ก่อปัญหาอะไรกับระบบน้ำหยด แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน ปุ๋ยเคมีมีการเสริมธาตุอาหารรองเข้าไปในสูตรปุ๋ยต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย - จะป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ โดยใช้สารกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น อะบาเม็กติน ลงไปกับระบบน้ำเลยได้หรือไม่ คำตอบ : วิธีที่ง่ายที่สุดในการจะทราบว่าปุ๋ยหรือกรดเข้ากันได้หรือไม่ โดยการทดลองผสมปุ๋ยหรือกรด โดยทำการละลายปุ๋ยที่ต้องการทดสอบในเหยือกแก้วใสขนาดใหญ่ประมาณ 1 ลิตร และผสมปุ๋ยที่เราต้องการทดลองลงไปในความเข้มข้นที่เราจะใช้ผสมลงในถังผสมปุ๋ย และคนให้เข้ากันทิ้งไว้สักครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่พบตะกอนนอนกันหรือลอยที่ผิวน้ำ หรือไม่เห็นเป็นสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม และเมื่อทิ้งไว้จะตกตะกอน แสดงว่าปุ๋ยนั้นสามารถผสมกันได้ ทั้งนี้แนะนำให้พ่นทางใบจะดีกว่าค่ะ และไม่ควรพ่นในระยะก่อนเก็บเกี่ยว - ควรให้จุลธาตุไปกับระบบน้ำหรือใช้ฉีดพ่นแบบเดิม คำตอบ : หากต้องการผสมจุลธาตุในสารละลายธาตุอาหาร ให้ระวังการทำปฏิกริยากับธาตุหลัก เช่น ฟอสฟอรัส อาจเลี่ยงโดยใช้จุลธาตุในรูปคีเลต ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าจุลธาตุในรูปซัลเฟต หรือคลอไรด์ ค่ะ นอกจากนี้ จุลธาตุที่ควรระมัดระวังในการใช้ คือ เหล็ก (Fe) เหล็กที่อยู่ในน้ำถ้ามีปริมาณมากจะเกิดการตกตะกอนเป็นเฟอร์ริกไฮดรอกไซด์ ซึ่งพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ตะกอนที่เกิดขึ้นจะไปเคลือบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ และจะไปอุดตันหัวน้ำหยด ความเข้มขันของเหล็กที่เกิน 10 micromol โดยเฉพาะเมื่อในน้ำมีอนุมูลไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) มากกว่า 1 micromol จะเกิดการตกตะกอนของเหล็กเป็นคราบสีน้ำตาลแดง ตามชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องมือ ส่วนจุลธาตุอื่นๆ พืชมีความต้องการอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา ทั้งนี้การให้ปุ๋ยน้ำทางใบ เช่น แคลเซียมโบรอน กรดอะมิโน จะใช้อัตรา 1-2 cc/น้ำ 1 ลิตร พ่น 4-7 วัน


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู