ถาม-ตอบ
ศัตรูพืช
ถามเมื่อ 30 มกราคม 2563
อยากทราบว่า เเมลงที่บนต้นฝรั่งในภาพคือตัวอะไร สามารถป้องกันได้ยังไงบ้าง เเบบไม่ใช่สารเคมีมีวิธีไหนบ้างครับ และใช้สารเคมีเเบบไหนบ้างในการป้องกันเเละกำจัดครับ ขอบคุณนะครับ

1) ตัวสีขาวๆ ในภาพคือเพลี้ยแป้ง (Mealybug) เป็นแมลงปากดูด มีลักษณะพิเศษคือลำตัวอ่อนนุ่ม สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ มีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย ประกอบด้วยระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จะเคลื่อนที่ได้ว่องไวและคลานไปยังพืชที่เหมาะสม ในระยะแรกมีขนาดเล็ก ไม่มีไขแป้งปกคลุมลำตัว และจะเจริญเติบโตโดยการลอกคราบจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเข้าสู่วัยที่ 2 ตัวอ่อนจะมีลำตัวปกคลุมด้วยผงแป้งสีขาวและเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าวัยที่ 3 จะเป็นระยะตัวเต็มวัย อายุตั้งแต่วางไข่-ตัวเต็มวัย 17-21 วัน อายุตลอดอายุขัย 66-93 วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพศเมียลอกคราบ 3 ครั้ง ส่วนเพศผู้ลอกคราบ 4 ครั้ง เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 300-600 ฟอง ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ใบ ดอกและผล สามารถระบาดและทำลายพืชทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลที่มีลักษณะของเหลวข้นเหนียวมีรสหวาน ทำให้เกิดราดำปกคลุมปิดบังบางส่วนของใบพืช ผล ดอกหรือยอดอ่อนมีผลทำให้การสังเคราะห์แสงของพืชลดลง และอาจแห้งตายไปในที่สุดหลังจากถูกเพลี้ยแป้งดูดน้ำเลี้ยง และผลผลิตลดลงได้ การป้องกันกำจัด ควรหมั่นสำรวจแปลงไม้ผลเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วง หรือเข้าสู่หน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การระบาดมาก หากพบเริ่มมีการระบาดแนะนำให้เกษตรกรดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. กำจัดแหล่งพืชอาศัยบริเวณรอบแปลงปลูกหากพบให้รีบทำลายโดยการตัดเผาทำลาย 2. ถ้ามีการระบาดเล็กน้อยใช้น้ำฉีดพ่น ตัดแต่งกิ่ง ห่อผล และใช้พืชสมุนไพร น้ำหมักฉีดพ่นควบคู่กับการปล่อยศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ 3. ใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุม เช่น บิวเวอเรีย สารสกัดจากไหลแดง (โล่ติ้น) สารสะเดา เป็นต้น 4. ในกรณีพบการระบาดมากแนะนำให้ใช้สารเคมีพ่นทางใบ ได้แก่ อะเซทามิพริด อิมิดาโคลพริด บูโพรเฟซิน ไดโนทีฟูแรน และไทอะมีทอกแซม หรือสารสะลายอะโซดรินพ่นให้ทั่วใบ ต้น กิ่งอ่อน และผลทุก ๆ 7 วัน ประมาณ 2-3 ครั้ง และหยุดพ่นสารเคมีก่อนเก็บผลอย่างน้อย 7 วัน 2) ตัวสีเหลืองๆ มีจำนวนค่อนข้างมาก คือ เพลี้ยอ่อน เป็นศัตรูของพืชหลายชนิด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคพืชหลายชนิด เพลี้ยอ่อนพบระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน ควรป้องกันไม่ให้แมลงชนิดนี้เข้ามาในแปลงปลูก โดยกำจัดวัชพืชในบริเวณแปลงปลูก เพราะเป็นที่หลบอาศัยของเพลี้ยอ่อน ถ้าพบพืชมีอาการยอดหงิกให้ตัดส่วนที่แสดงอาการออกและเผาทำลาย 1. ถ้าจำนวนเล็กน้อยให้ใช้น้ำแรงๆ พ่นไล่ ตัดแต่งกิ่ง ห่อผล และใช้พืชสมุนไพร น้ำหมักพ่นควบคู่กับการปล่อยศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ 3. ใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุม เช่น บิวเวอเรีย สารสกัดจากไหลแดง (โล่ติ้น) สารสะเดา เป็นต้น 4. ถ้าพบการระบาดให้ใช้ อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10% SL) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เลือกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรพ่นสารเคมีติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน 3) ส่วนแมลงสีน้ำตาล 2 ตัว ที่อยู่ตรงกลางใบ คือ ตัวอ่อนด้วงเต่าตัวห้ำ (แมลงเต่าทอง) ซึ่งเป็นแมลงตัวห้ำที่มีประโยชน์ จากในภาพที่ส่งมาจะเห็นว่ากำลังกินเพลี้ยอ่อนอยู่ค่ะ


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู