ถาม-ตอบ
ถามเมื่อ 11 ธันวาคม 2560
วิธีการแปรรูปมูลค้างคาวแบบน้ำ และแบบอัดเม็ด และส่วนผสมในการทำปุ๋ย

วิธีทำปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบน้ำ ปุ๋ยหมักแบบน้ำเป็นสารละลายสีน้ำตาลข้นที่ได้จากการย่อยสลายมูลสัตว์ โดยผ่านกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ทั้งที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจน การทำปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบน้ำมีส่วนผสมหลายอย่างรวมกัน ประกอบด้วยมูลค้างคาว 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ลิตร และน้ำ 40 ลิตร วิธีการคือ นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วหมักในภาชนะที่มีฝาปิด ทิ้งไว้ 30-45 วัน จะได้น้ำหมักที่มีสีน้ำตาลเข้ม ข้อเด่น คือ พืชสามารถดูดสารอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนข้อด้อย คือ หากปิดฝาไม่สนิท ปล่อยให้อากาศเข้า อาจทำให้น้ำหมักมูลค้างคาวมีประสิทธิภาพลดลง วิธีทำปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบเม็ด การทำปุ๋ยให้เป็นเม็ดโดยใช้เครื่องจักรกล ข้อเด่นหรือจุดประสงค์ของการปั้นเม็ดก็เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สะดวกต่อการเก็บและการใช้งาน ส่วนข้อด้อย คือ การทำปุ๋ยเม็ดนั้นจะต้องมีอุปกรณ์และเครื่องจักรกลเข้ามาเพิ่มเติม จึงไม่สามารถที่จะทำในระดับครัวเรือนได้ เป็นการลงทุนที่สูงโดยไม่จำเป็น การใช้ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวในการผลิตพืชแบบอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบแห้ง ข้อได้เปรียบของการใช้มูลค้างคาวแบบแห้งเมื่อเทียบกับมูลสัตว์ชนิดอื่น คือ ใส่ในปริมาณน้อย ระยะเวลาการใส่ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและพื้นที่ปลูก เช่น พืชในกระถางหรือพืชที่ปลูกลงดิน ขนาดกว้างยาวแคบต่างกัน อันนี้คงกำหนดตายตัวไม่ได้ แต่หากใส่แบบประหยัด ก็ใส่ทุก 30 วัน น่าจะดีที่สุด เพราะจะช่วยประหยัดเงิน และต้นไม้มีเวลาฟื้นตัว หากใส่ถี่กว่านี้อาจเกิดปัญหากับสภาพของดินที่เปลี่ยนไป การใช้ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบแห้งจึงเหมาะสำหรับพืชไร่ พืชสวน และการเกษตรอินทรีย์โดยรวม การใช้ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบน้ำ น้ำหมักมูลค้างคาวได้ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตพืชหลากหลายชนิด ทั้งพืชผักและไม้ผล ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบน้ำเหมาะกับพืชกินใบ เช่น พืชผัก ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการใช้น้ำหมักมูลค้างคาวในการเพาะเห็ด เป็นที่ทราบดีว่า เห็ดเป็นพืชอินทรีย์ แต่จะทำอย่างไรให้พืชอินทรีย์ชนิดนี้เพิ่มผลผลิตในปริมาณที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเองมีความพึงพอใจ ได้มีการทดลองโดยใช้อัตราส่วนของน้ำหมักมูลค้างคาว 1 ลิตร ผสมรวมกับวัสดุที่ใช้เพาะเห็ด ผลการทดลองพบว่า การใช้น้ำหมักจากมูลค้างคาวให้ผลผลิตเห็ดสูงสุด โดยเปรียบเทียบจากน้ำหนักสดของเห็ดนางฟ้าที่เพาะกับน้ำหมักต่างชนิดกัน การใช้ปุ๋ยหมักมูลค้างคาวแบบเม็ด ปุ๋ยแบบเม็ดเหมาะสำหรับใช้ใส่สวนผลไม้ที่เป็นไม้ผลกลิ่นหอม เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย กล้วยหอม มะม่วง ลิ้นจี่ และประเภทพืชใบ พืชหัว เช่น ผักสลัด มันสำปะหลัง โดยใส่รอบโคนต้นเหมือนกับมูลไก่หรือมูลวัว หรือผสมกับดินปลูกก็ได้ แต่ควรใส่ปริมาณน้อย เพราะปุ๋ยมูลค้างคาวแบบเม็ดมีธาตุอาหารสูง ดังนั้น การนำปุ๋ยแบบเม็ดนี้ไปผสมกับสารอินทรีย์ต่างๆ และ/หรือปรุงสูตรให้มีธาตุอาหารในระดับที่เหมาะสม จึงน่าจะเป็นปุ๋ยที่เหมาะกับการปลูกพืช


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู