ข่าวสาร
Q70 การแปรรูปวัสดุเหลือใช้เกษตร
26 มีนาคม 2568
เทคโนโลยีกำจัดและเพิ่มมูลค่าขยะจากอ้อยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ปลูกในภูมิภาค Northern Rivers มานานกว่า 150 ปี โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 34,000 เฮกเตอร์ (ประมาณ 212,500 ไร่) เกษตรกรกว่า 500 ครอบครัวสามารถผลิตอ้อยได้ราว 2.4 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับบริษัท Sunshine Sugar โรงงานแปรรูปหลักของรัฐ อย่างไรก็ดี พื้นที่ปลูกอ้อยในภูมิภาคนี้คิดเป็นเพียง 5% ของการผลิตอ้อยทั้งประเทศ และยังต้องเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรใช้ระบบปลูกพืชแบบรอบการเก็บเกี่ยว 2 ปีเพื่อเพิ่มผลผลิต

ปัญหาการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว

การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว (Pre-harvest burning) ยังคงเป็นวิธีที่นิยมใช้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นและชื้นของรัฐ หากไม่เผาใบอ้อย อุณหภูมิของดินอาจลดลง ส่งผลกระทบต่อการแตกหน่อของอ้อยในรอบปลูกถัดไป ทำให้เกษตรกรต้องเลือกใช้วิธีเผา ซึ่งมีต้นทุนต่ำและลดปัญหาการสะสมของเศษพืชในแปลง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศและการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่

กฎหมายควบคุมการเผาอ้อย

เพื่อควบคุมผลกระทบ รัฐนิวเซาท์เวลส์มีกฎหมายเกี่ยวข้อง ได้แก่

  • พระราชบัญญัติการวางแผนและประเมินผลสิ่งแวดล้อม ควบคุมผลกระทบจากการเผา

  • พระราชบัญญัติการทำฟาร์ม ปกป้องสิทธิของเกษตรกร

  • พระราชบัญญัติไฟป่าชนบท กำหนดระยะเวลาที่มีความเสี่ยงไฟป่าสูง ซึ่งเกษตรกรต้องขอใบอนุญาตก่อนเผา

เกษตรกรยังต้องแจ้งเพื่อนบ้านล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตรวจสอบทิศทางลมและสภาพอากาศ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการลดมลพิษ ซึ่งสมาคมผู้ปลูกอ้อยเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่เกษตรกร

แนวทางลดการเผาอ้อยและเพิ่มมูลค่าขยะอ้อย

แม้ว่าผลกระทบจากการเผาอ้อย เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซเรือนกระจก และสารพิษจะเป็นที่ตระหนัก แต่การหาทางเลือกที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องท้าทาย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันวิจัย กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น

  • การลงทุน 1.25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ของบริษัท Sunshine Sugar มหาวิทยาลัย Queensland University of Technology และองค์กร Sugar Research Australia ในการทดสอบเครื่องจักรแยกเศษพืช ซึ่งช่วยลดการเผาและเพิ่มประโยชน์จากของเสีย

  • เทคโนโลยีชีวมวล สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ประโยชน์จากอ้อยทุกส่วน ได้แก่:

    • ใบอ้อยเหลือทิ้ง นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และขายให้โรงงานพลังงาน

    • กากอ้อย ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ซึ่งวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกชั้นนำ เช่น Coles และ Woolworths หรือใช้เป็นพลังงานทดแทน

    • เถ้าลอยชานอ้อย นำไปพัฒนาเป็นปุ๋ยปรับปรุงดิน ซีโอไลต์ และคอนกรีต ลดต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

การพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะอ้อยในรัฐนิวเซาท์เวลส์สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาคอุตสาหกรรมในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม หากโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ อาจเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมอ้อยในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ในอนาคต

ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์

แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู