สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดตัวโครงการ One Tambon One Digital: ทุเรียนดิจิทัล โดยใช้แพลตฟอร์ม KasetOne มาเป็นตัวกลางในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลการทำการเกษตร โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย เพื่อให้เกิดการบันทึกแบบ “ตรวจสอบย้อนกลับ” เช็กได้ว่าทุเรียนแต่ละลูกที่ส่งไปขายปลูกตรงไหน ที่สวนใคร มีใบรับรอง GAP (Good Agricultural Practice) หรือไม่
พรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า อธิบายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการส่งออกทุเรียนว่า ส่วนสำคัญคือการทำให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ที่จะนำไปสู่การวางแผนนโยบาย เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตร (National Agriculture Platform) ของประเทศ
ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล ดีป้า เสริมว่า กลไกการสนับสนุนให้ใช้งานดิจิทัลกับการเกษตรจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้กระบวนการ GAP เร็วขึ้น แต่ในส่วนของการสวมสิทธิในการส่งออกนั้น ยอมรับว่ายังนำเทคโนโลยีไปแก้ได้ยาก เพราะเป็นการใช้เล่ห์กลมาก เช่น บางครั้งผู้ส่งออกถอดฝาตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งติดสัญลักษณ์แสดงสิทธิไปเลย