ข่าวสาร
L73 โรคสัตว์
21 มีนาคม 2568
ตัดตอนโรค TiLV ในปลาทับทิม! นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนาวัคซีนแรกของโลก พร้อมขยายสู่เชิงพาณิชย์

โรคไวรัสทิลาเปียเลค (Tilapia Lake Virus : TiLV) หรือ "โรคตายเดือน" เป็นหนึ่งในภัยร้ายแรงของปลานิลและปลาทับทิมวัยอ่อน โดยเฉพาะช่วงอายุ 1 เดือนแรก ซึ่งอาจทำให้อัตราการตายสูงถึง 80% ปัจจุบันโรคนี้แพร่ระบาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะที่ใช้ป้องกันได้

วัคซีน TiLV: นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.ศศิมนัส อุณจักร์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนา วัคซีน TiLV ชนิดรีคอมบิแนนท์ ซึ่งใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมในการนำชิ้นส่วนไวรัสที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันมาใช้

ประสิทธิภาพและความปลอดภัย

  • ลดอัตราการตายของปลาทับทิมจาก 80% เหลือเพียง 10%
  • ไม่ทิ้งสารตกค้างในตัวปลาและสิ่งแวดล้อม
  • ปลอดภัยสูง ไม่ก่อโรคซ้ำเหมือนวัคซีนเชื้ออ่อน

หนุนขยายกำลังการผลิต กระทรวง อว. โดย บพข. สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไวรัสเพื่อใช้ในการผลิตพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์ปลาทับทิม” ซึ่งร่วมมือกับ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม

ต้นทุนวัคซีนและศักยภาพการผลิต

  • ถังหมักขนาด 5 ลิตร: ผลิตวัคซีนได้ 15,000 โดส ต้นทุน 2.60 บาท/โดส
  • ถังหมักขนาด 50 ลิตร: ผลิตวัคซีนได้ 90,000 โดส ต้นทุน 1.40 บาท/โดส

เป้าหมาย: ปลาทับทิมปลอดโรค 100% วัคซีนนี้มุ่งเน้น ตัดตอนการแพร่เชื้อจากพ่อแม่พันธุ์สู่ลูกพันธุ์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าหลังใช้วัคซีน TiLV ฟาร์มสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลาปลอดโรค เพิ่มขึ้น 10% ทุกปี และลูกพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้น 15% ทุกปี ปัจจุบันมีการจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาปลอดโรคไปยังแหล่งเพาะเลี้ยงแล้ว

อนาคตสู่การใช้เชิงพาณิชย์ ทีมวิจัยกำลังขยายกำลังการผลิต เพื่อกระจายวัคซีนไปยังฟาร์มเกษตรกรและอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลาทั่วประเทศ โดยมีแผนผลักดันสู่อุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียของเกษตรกรและยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลาทับทิมไทยให้ปลอดโรค TiLV ได้อย่างยั่งยืน


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู