ข่าวสาร
N20 เกษตรกลวิธาน
22 มีนาคม 2567
นักศึกษา มทร.ศรีวิชัย คว้าเหรียญทอง การประกวด I-New Gen Award 2024 ผลงานการออกแบบและพัฒนาแผ่นรองกีบเท้าโคนมจากการพิมพ์สามมิติ

นายชินกฤต ทองศรีนวล นายธนพล วงศ์สวัสดิ์ นางสาวชนกวนันท์ ไชยอาดูล และนางสาวณิชาพัชร์ วงศ์สุริยะ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้คว้าเหรียญทองจากการประกวด I-New Gen Award 2024 กลุ่มเกษตร ในชื่อผลงาน การออกแบบและพัฒนาแผ่นรองกีบเท้าโคนมจากการพิมพ์สามมิติ โดยมี ผศ.ดร.ฐานวิทย์ แนมใส เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหัวหน้าโครงการ และมี รศ.ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต นายธีรวัฒน์ เพชรดี และนายวสุ สุขสุวรรณ เป็นอาจารย์ผู้ร่วมวิจัย สำหรับการประกวดดังกล่าวเป็นงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยมีโคนมเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรที่ต้องการผลิตนมโคอย่างต่อเนื่อง จำนวนโคนมภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมมีจำนวน 645,261 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 660,155 ตัว คิดเป็นร้อยละ 2.82 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของโคนมที่พบบ่อยคือ การปวดเท้า โดยเฉพาะบริเวณกีบเท้าของโค สาเหตุของอาการมาจากการขาดการตัดแต่ง ดูแลรักษากีบ ทำให้กีบยาว หนา และผิดรูป ก็จะส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่ส้นกีบ

ดังนั้น ทางกลุ่มวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะออกแบบแผ่นรองกีบเท้าโคนมด้วยวัสดุพลาสติกจากธรรมชาติ เพื่อลดอาการการบาดเจ็บของกีบโคจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกีบเท้าโค และหลังจากการตัดตกแต่งกีบ โดยใช้การออกแบบด้วยระเบียบวิธีทางไฟไนต์อิเลเมนต์เพื่อหาพฤติกรรมเชิงกลที่เหมาะสม

นอกจากนั้น จะนำแผ่นรองที่ออกแบบขึ้นไปทดสอบประสิทธิภาพกับโคนมในกลุ่มเกษตรกรฟาร์มโคนม รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาแผนธุรกิจ (Business model canvas) เพื่อหาความเป็นไปได้ของแผ่นรองกีบเท้าโคในการขยายสู่เชิงพาณิชย์

การใช้งานและการนำไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นใช้ในกรณีที่โคนมมีอาการปวดหรือมีปวดแผลกีบเท้าฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะใช้ตัวแผ่นรองไปใส่ไว้อีกด้านของกีบที่ไม่มีแผล เพื่อให้แผลยกลอยขึ้นจากพื้น ลดการสัมผัสพื้นโดยตรง ส่งผลให้แผลที่กีบของโคนมหายไวขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายถึง 2 เท่า จากเดิมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และยังสามารถเดินและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด

การใช้ประโยชน์ได้นำไปทดสอบใช้งานจริงในระดับภาคสนามที่ ฟาร์มวัวออลซีซัน ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่สำหรับพื้นที่ทางภาคใต้ สำหรับผลิตภัณฑ์หลักคือ ผลิตภัณฑ์นมโคแท้ 100% ที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู