ข่าวสาร
L72 ศัตรูสัตว์
21 มีนาคม 2567
นักวิจัยญี่ปุ่นทดลองทาสี 'วัว' ให้เป็นม้าลาย พบช่วยไล่แมลงกินเลือดได้ 70%

จังหวัดยามากาตะของญี่ปุ่น ได้ทดลองย้อมสีวัวให้กลายเป็นสีขาวสลับสีเดิมของมัน (คล้าย ๆ ม้าลาย) โดยใช้สารฟอกขาวที่ใช้กับผมมนุษย์ หรือสเปรย์สีขาว ขนาด 3-4 เซนติเมตรทั่วตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไล่แมลงที่ชอบมากัดและกินเลือดวัว ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่มันดันได้ผลอย่างน่าประหลาดใจ

แมลงกินเลือด เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร นอกจากการก่อความรำคาญให้วัวแล้ว บางครั้งยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ มาสู่วัวด้วย วัวมักจะมีความเครียดมากขึ้น เนื่องจากความเจ็บปวดจากอาการคันและส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ของสัตว์ด้วย

ไม่กี่ปีก่อน จังหวัดไอจิ ของญี่ปุ่นเองก็ได้ทำการทดลองในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งผลวิจัยต่างๆ ชี้ว่า การย้อมขนวัวมันช่วยได้จริงๆ โดยนักวิจัยที่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของวัว (ส่ายหาง, ส่ายหัว, ยกขาเพื่อไล่แมลง) บอกว่า “เกษตรกรจำนวนมากลังเลที่จะปล่อยวัวของตนไปในทุ่งหญ้า เพราะพวกมันจะตกเป็นเป้าของแมลง แต่ตอนนี้วัวของพวกเขาสามารถพักผ่อนในทุ่งหญ้าและเติบโตอย่างแข็งแรงได้แล้ว ถ้าเราย้อมสีขนของพวกมัน”

การกัดของแมลงถือเป็นปัญหาร้ายแรงของการปศุสัตว์ เนื่องจากมันมีผลต่อวัวและอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ แมลงทำให้วัวกินอาหารได้น้อย นอนได้น้อย ผลิตน้ำนมได้น้อย และมีผลต่อพัฒนาการของมัน นักวิจัยเล่าว่า วัวที่ไม่ได้ย้อมสีขนจะเคลื่อนไหวร่างกาย 16 ครั้งต่อนาที แต่วัวที่ย้อมสีขนกลับมีพฤติกรรมเช่นนั้นลดลงถึง 70% เหลือเพียง 5 ครั้งต่อนาที

นักวิจัยบางคนประเมินว่า แมลงในสหรัฐฯ ทําให้อุตสาหกรรมนมและเนื้อวัวต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี สารฟอกขาวที่ใช้กับเส้นผมมนุษย์ จะทำให้เกิดเป็นสีขาวอมเหลืองซึ่งสามารถอยู่ได้นานถึงหนึ่งเดือนครึ่ง ส่วนสเปรย์สีขาวจะอยู่ได้นานราวหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามการย้อมขนก็สามารถป้องกันแมลงได้จริง

ชาวนาคนหนึ่งเล่าถึงผลลัพธ์ที่เขาได้จากการย้อมสีขนวัวว่า ตอนแรกก็รู้สึกสงสัย แต่ก็ตกใจกับผลลัพธ์เหมือนกันว่าลายบนตัววัวมันไล่แมลงได้จริง “เห็นได้ชัดเลยว่าวัวที่ถูกย้อมสีกระหางน้อยกว่า เพื่อนวัวตัวอื่นๆ ในทุ่ง” ผลการทดลองในครั้งนี้อาจกลายเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของเหล่าเกษตรกรที่กำลังหาวิธีต่อสู้กับแมลง และแถมยังได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่ https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0223447


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู