ข่าวสาร
F02 การขยายพันธุ์พืช
15 มีนาคม 2566
ผลิตกุหลาบจิ๋วด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไม้ดีมีคุณภาพ ทำรายได้ตลอดทั้งปี

การผลิตกุหลาบจิ๋ว คือการนำกุหลาบในกลุ่มกุหลาบหนู (Miniature rose) ที่มีการจำหน่ายในตลาดการค้าทั่วไป มาคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้มีทรงพุ่มกะทัดรัด ออกดอกสวยงาม มาผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant tissue culture) ซึ่งวิธีนี้เป็นการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่ง ทำให้ได้ต้นกุหลาบหนูมีความสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร สามารถนำไปปลูกเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ออกดอกสวยงามเหมือนต้นแม่พันธุ์เดิมทุกประการ ต่างกันที่ต้นกุหลาบหนูที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะมีขนาดต้นที่เล็กลง จึงมักเรียกกุหลาบเหล่านี้ว่า กุหลาบจิ๋ว หรือ เบบี้โรส

คุณวรนัฐ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เกษตรกรตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีความชำนาญในการพัฒนาและขยายพันธุ์กุหลาบจิ๋วได้เป็นอย่างดี และมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ พร้อมทั้งมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้กุหลาบตอบโจทย์กับความสนใจของลูกค้า จึงเกิดเป็นงานสร้างรายได้อย่างดีทีเดียว

คุณวรนัฐ เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนนั้นมีอาชีพรับราชการอยู่สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรถึง 18 ปี ต่อมาได้ลาออกจากงานรับราชการมาดำเนินงานที่เกี่ยวบกับการทำงานในห้องแลบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทางด้านกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส และเมื่อทำอยู่ได้สักระยะหนึ่งจึงได้มาเปิดห้องแลบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยตนเองในปี 2550

“สายงานที่ผมทำมาตั้งแต่รับราชการ ก็จะเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นส่วนใหญ่ พอมีโอกาสก็ได้ทำการศึกษาต่อ และมาทำงานเกี่ยวกับด้านนี้อีกเป็นลำดับ ทำให้มีองค์ความรู้ในเรื่องของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งช่วงที่รับราชการอยู่มีโอกาสได้เรียนรู้ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบจิ๋ว หลัก ๆ สมัยนั้นจะเป็นกุหลาบจิ๋วที่มีแต่ดอกสีแดงเพียงสีเดียว พอผมได้ทำงานมาเรื่อย ๆ และมีโอกาสมาเปิดห้องแล็บเป็นของตนเอง ก็ได้มาทำงานวิจัยในเรื่องของกุหลาบจิ๋วชนิดนี้ จากที่มีสีแดงเพียงสีเดียว ก็พัฒนาจากกุหลาบหนู ขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้มีจำนวนสีที่มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันนี้ทางแล็บของเราสามารถทำได้ถึง 7 รูปทรง 7 สี ที่เกิดจากการคัดสายพันธุ์จากการทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่สีหลักก็ยังคงสีแดงไว้” คุณวรนัฐ เล่าถึงที่มา

ในขั้นตอนของการผลิตกุหลาบจิ๋วให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น คุณวรณัฐ บอกว่า จะคัดเลือกต้นกุหลาบให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เป็นสายพันธุ์ดีมีรูปทรงและดอกที่สวยงามถูกต้องตามพันธุ์ จากนั้นนำชิ้นส่วนข้อหรือตากุหลาบที่คัดเลือกไว้ มาฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสารฟอกฆ่าเชื้อ แล้วจึงนำชิ้นส่วนที่ผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว มาผ่านการเพาะเลี้ยงบนวุ้นอาหารที่เตรียมไว้ ให้อยู่ในภาชนะและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ชิ้นส่วนที่เพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนยอดอ่อนให้มากขึ้น และนำยอดอ่อนที่ได้มาเลี้ยงในวุ้นอาหารเพื่อชักนำให้ไม้เกิดราก และเมื่อองค์ประกอบมีครบก็จะนำไม้ออกมาอุบาลและปลูกในสภาพแวดล้อมธรรมชาติต่อไป

“การชักนำไม้พันธุ์ดีที่เราต้องการทำให้เกิดยอดใหม่ ก็จะใช้เวลาอย่างต่ำอยู่ที่ 8-12 เดือน มีการเปลี่ยนวุ้นอาหารให้กับไม้ทุก 1 เดือนครั้ง ซึ่งระยะเวลามากน้อยขึ้นอยู่ว่าเราต้องการทำจำนวนเยอะขนาดไหน การแตกยอดก็จะเป็นแบบทวีคูณ จาก 1 ยอด เป็น 2 ยอด จาก 2 ยอด เป็น 4 ยอด และจาก 4 ยอด เป็น 8 ยอด เพิ่มจำนวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนได้จำนวนที่เราต้องการ จากการเพาะเลี้ยงเพื่อชักนำให้เกิดยอด พอเราได้จำนวนที่เราต้องการแล้ว ก็จะนำยอดที่ได้มาเปลี่ยนเลี้ยงในวุ้นอาหารที่ชักนำให้เกิดราก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ไม้ที่เป็นชิ้นส่วนยอดทั้งหมดก็จะเกิดรากสมบูรณ์” คุณวรนัฐ บอก

เมื่อกุหลาบที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีระบบยอดและรากแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะนำไม้ออกจากระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาอนุบาลในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อปลูกลงในวัสดุปลูกต่างๆ ที่เตรียมไว้ โดยนำไม้ออกจากขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นล้างรากให้สะอาดนำกุหลาบจิ๋วที่ได้มาปลูกกับวัสดุปลูกจำพวกดินร่วนผสมอินทรียวัตถุ เพื่อเป็นการอนุบาลให้กุหลาบจิ๋วมีความแข็งแรงต่อไป

การดูแลกุหลาบจิ๋วในช่วงอนุบาล จะรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง โดยดูสภาพอากาศเป็นหลัก แต่ถ้าภายในวัสดุปลูกยังมีความชื้นอยู่ ก็จะรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอ “พอเราอนุบาลในถาด 104 หลุม ได้สัก 1 เดือน ไม้ก็จะเริ่มมีตุ่มดอก ระยะนี้ถ้ามีลูกค้าติดต่อขอซื้อไปก็จะขายแบบยกถาดไปเลย แต่ถ้าไม่ขายในระยะนี้ ผมก็จะนำมาแยกปลูกลงในกระถาง ขนาด 2 นิ้ว ต่อไป เพื่อให้เป็นกุหลาบจิ๋วอีกขนาดหนึ่ง ขายเป็นกุหลาบจิ๋วไม้กระถาง เป็นไม้อีกขนาดหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะส่งขายให้ลูกค้า ก็จะมีการใส่ปุ๋ย สูตร 12-24-12 เพื่อให้มีดอกที่สวย ก่อนที่จะส่งไม้กระถางขายให้กับลูกค้าประมาณ 15 วัน” คุณวรนัฐ บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายกุหลาบจิ๋วนั้น คุณวรนัฐ บอกว่า เกิดจากการที่ไม้ภายในสวนได้ออกตามสื่อด้านการเกษตรต่างๆ จึงทำให้ลูกค้าที่มีความสนใจได้รู้แหล่งผลิต และเข้ามาติดต่อขอซื้อไม้มากขึ้น ทำให้เขาสามารถวางแผนการผลิตอย่างชัดเจนตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง ส่งผลให้ผลิตกุหลาบจิ๋วไม่ล้นตลาดสามารถจำหน่ายได้ราคา

“สมัยก่อนกุหลาบจิ๋วจะมีดอกสีแดงเพียงสีเดียว พอลูกค้าเริ่มมีความต้องการมากขึ้น ก็ได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเรื่อยๆ ให้มีมากสีเพื่อลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น สรุปว่าผลตอบรับก็ดี อย่างสีขาวที่มีการพัฒนาขึ้นมา ยังสามารถนำมาเป็นจุดขายช่วงวันแม่ได้อีกด้วย เพราะว่าลักษณะดอกคล้ายๆ กับดอกมะลิ ดังนั้นการพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ต่างๆ ขึ้นมา ก็เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้มีทางเลือกอยู่เสมอ โดยสวนของเราก็จะไม่หยุดที่จะพัฒนา จะทำให้ดีมีคุณภาพต่อไปเรื่อยๆ” คุณวรนัฐ บอก

ราคาจำหน่ายกุหลาบจิ๋วไซซ์ขนาดอยู่ในถาด 104 หลุม จำหน่ายอยู่ที่ ถาดละ 2,500 บาท ส่วนกุหลาบจิ๋วที่ย้ายมาปลูกในกระถาง ขนาด 2 นิ้ว จำหน่ายอยู่ที่ กระถางละ 40 บาท ซึ่งการเลือกแต่ละขนาดขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการนำไปจำหน่ายต่อในลักษณะการทำตลาดในรูปแบบใด

สำหรับท่านใดที่สนใจกุหลาบจิ๋ว ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวรนัฐ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โทร. 08 6084 6362

  • แนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้อง จากโครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตรฯ 

📗 บาทฐาน งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
คลิกอ่าน ได้ที่ https://ebook.lib.ku.ac.th/item/2/20230006 
หรือดาวน์โหลดได้ที่ https://kukr.lib.ku.ac.th/kukr_es/kukr/search_detail/result/20017659

รวบรวมเนื้อหาและจัดทำโดย 8 ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต ผศ.ดร.เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี รศ.ดร.เกวลิน คุณาศักดากุล รมณีย์ เจริญทรัพย์ พนมพร วรรณประเสริฐ ดร.เพชรรัตน์ จันทรทิณ Mr.Ray Lebon Ong

หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับ "เครื่องมือบรรลุถึงความสำเร็จแห่งงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช" เผยเทคนิคตั้งแต่...การเตรียมชิ้นพืช กายวิภาคพืช สัณฐานวิทยาพืช การควบคุมการปนเปื้อน สารควบคุมการเจริญเติบโตพืชและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ สูตรอาหารและอาหารสังเคราะห์ การดูแลต้นแม่พันธุ์ การออกแบบก่อสร้างห้องปฏิบัติการ ธุรกิจการผลิตต้นอ่อนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ฯลฯ ซึ่งสอดแทรกความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรายพืช อาทิ พืชกินแมลง กล้วยไม้ลายทอง เฟิร์น


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู