ข่าวสาร
P01 การอนุรักษ์ธรรมชาติ/ที่ดิน
5 สิงหาคม 2565
แจกฟรี! กล้าหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

กรมพัฒนาที่ดิน เชิญชวนรับกล้าหญ้าแฝก ปลูกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ตั้งเป้าเร่งแจกจ่ายปลูกทั่วประเทศภายในกันยายน 2565

การชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ ที่ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน และการสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน จึงทรงศึกษาถึงศักยภาพของ “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน ซึ่งมีวิธีการปลูกแบบง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" แนวพระราชดำริในการใช้หญ้าแฝก เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในด้านต่าง ๆ และบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

กรมพัฒนาที่ดินเชิญชวนรับกล้าหญ้าแฝก

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานดำเนินการ ศึกษาวิจัยและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก โดยเฉพาะการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินจากการถูกกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมา ทำให้แร่ธาตุและความสมบูรณ์ของดินถูกชะล้างไป อีกทั้งมีคุณสมบัติช่วยดักตะกอนดินและช่วยชะลอความเร็วของน้ำ ซึ่งหญ้าแฝกมีระบบรากยาวสานกันแน่น โอบดิน อุ้มน้ำ เป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ มีความคงทนสามารถอยู่ได้นานหลายปี” ​​โดยกรมพัฒนาที่ดิน ตั้งเป้าเร่งดำเนินการแจกจ่ายและปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 นี้ โดยมีสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 1-12 และสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ดำเนินการพร้อมให้คำแนะนำการปลูก การดูแลรักษา และให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของหญ้าแฝกให้เป็นไปตามหลักวิชาการ จึงขอเชิญชวนเกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานที่สนใจ ขอรับกล้าหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ และพื้นที่ลาดชันได้ ติดต่อขอรับได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 หรือสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู