ข่าวสาร
F04 ปุ๋ย
22 มิถุนายน 2565
แหนแดง ปุ๋ยพืชสดให้ธาตุอาหารสูง
 

ดร.ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า แหนแดงเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในการผลิตพืช เนื่องจากใบของแหนแดงมีโพรงใบ ซึ่งมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดที่ตรึงไนโตรเจนอาศัยอยู่ เมื่อนำมาวิเคราะห์ธาตุอาหาร พบว่ามีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แหนแดงจึงเปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพที่สามารถใช้ทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน

กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ปรับปรุงพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟินล่า ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยภายในระยะเวลา 30 วันให้ผลผลิตแหนแดงสดถึง 3 ตัน/ไร่ รวมทั้งยังสามารถตรึงไนโตรเจนได้ถึง 5-10 กิโลกรัม/ไร่

แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดที่เข้ามามีบทบาทสำคัญตอบโจทย์การทำเกษตรอินทรีย์ เพราะสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปใช้ได้ผลดีในนาข้าวและพืชผัก แต่หากใช้แหนแดงสดต้องใช้ปริมาณมากพืชจึงจะได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ จึงได้มีแนวคิดต่อยอดงานวิจัย โดยทดสอบนำแหนแดงสดไปตากแดดให้แห้ง เมื่อนำแหนแดงแห้งไปตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหาร ผลปรากฏว่ามีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสด และการนำไปใช้ประโยชน์ยังใช้ปริมาณที่น้อยกว่าการใช้แหนแดงสดด้วย

จากผลการทดลองนำแหนแดงแห้งไปใช้กับพืชผักกินใบ เช่น คะน้า กวางตุ้ง และผักสลัด โดยนำมาคลุกกับดินหรือรองก้นหลุม 1 กำมือ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พบว่าให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งแหนแดงแห้งยังสามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกกล้าได้เลย จึงเหมาะสมอย่างมากสำหรับการผลิตพืชผักอินทรีย์

นอกจากนี้ในพื้นที่แห้งแล้งแหนแดงจะทำหน้าที่ดูดซับน้ำเอาไว้ให้พืช เนื่องจากแหนแดงแห้งสามารถซับน้ำได้ 300 เท่าของน้ำหนักตัว ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากเกษตรกร สามารถผลิตและขยายพันธุ์แหนแดงไว้ใช้ได้เอง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก โดยแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัมสามารถใช้ในพื้นที่ปลูกผักประมาณ 2 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรีย แหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม มีปริมาณธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยยูเรียประมาณ 100 กรัม (1 ขีด)

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนแม่พันธุ์แหนแดงและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแหนแดงในบ่อแม่พันธุ์สำหรับให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เองครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งวิธีการเพาะเลี้ยงสามารถทำได้ง่าย โดยทำบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดง 2-3 บ่อ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปขยายพันธุ์ต่อในบ่อขยายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยแหนแดงใช้ระยะเวลาขยายพันธุ์จนเต็มบ่อประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะเจริญเติบโตขยายตัวไปได้เรื่อย ๆ เกษตรกรจึงสามารถผลิตได้ตลอดไม่มีวันขาดแคลน รวมทั้งยังสามารถเก็บแหนแดงแห้งใส่กระสอบไว้ใช้ได้นานถึง 3 ปี โดยที่ธาตุอาหารยังอยู่ครบ เกษตรกรที่สนใจสร้างบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์และบ่อขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงแหนแดงด้วยวิธีการง่าย ๆ ใช้ต้นทุนน้อยมาก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตของกรมวิชาการเกษตร.


แหล่งที่มา

นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2565
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู