ข่าวสาร
P10 ทรัพยากรน้ำ
12 พฤษภาคม 2565
ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตร

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนงานวิจัยแก้ปัญหาภัยแล้งต้านภัยธรรมชาติ จากผลงาน เรื่อง "ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรของ อบต.ถ้ำสิงห์ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร"

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติลงพื้นที่ชุมชน ต.ถ้ำสิงห์ เพื่อฟังบรรยาย สรุปโครงการวิจัย เรื่อง "ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรม การแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบล ถ้ำสิงห์ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร" พร้อมเยี่ยมชมโครงการวิจัย ธนาคารน้ำใต้ดิน 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุก ฤดูแล้งและนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงน้ำ วช. จึงเล็งเห็นถึง ปัญหาและพร้อมให้ความสนับสนุนการดำเนินงานให้ทีมนักวิจัย มูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโร ตามโครงการ "ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรม การแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร" เพื่อนำความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถบริหารการจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน ต่อไป

ดร.พรนค์พิเชฐ แห่งหน นักวิจัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนที่มวลน้ำมีจำนวนมากแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปตามธรรมชาติ โครงการนี้ช่วยกักเก็บน้ำเหมือนกับการฝากน้ำไว้กับดิน ตามหลักการ "ศาสตร์พระราชาการเติมน้ำใต้ดิน" ธนาคารน้ำจึงเป็นแก้มลิงที่มองไม่เห็น

โดยหลักการการทำงานของ นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
1.ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการเติมน้ำลงในแอ่งน้ำโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อขุด หรือแอ่งน้ำธรรมชาติ โดยขุดทำสะดือ 3 จุด คือ บริเวณหัว ท้าย และตรงกลางแอ่งน้ำ โดยขุดให้พ้นชั้นดินเหนียวก็จะถึงชั้นหินอุ้มน้ำประมาณ 7-12 เมตร เปิดขอบแอ่งน้ำให้เส้นทางน้ำไหลลงมาเติมได้ทุกทิศทาง แม้น้ำมากเท่าใดก็จะไม่ล้นขอบบ่อ น้ำจะถูกนำไปกระจายเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำ และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง น้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำจะเอ่อล้นออกมาชดเชยปริมาณน้ำในแอ่งน้ำที่แห้งลงไป ทำให้มีปริมาณน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

2.ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเติมน้ำลงใต้ดินในลักษณะ ของบ่อซับน้ำ โดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม/วงกลม ขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วขุดสะดือหลุมให้ลึกลงไปอีก 30 ซม. เพื่อใช้สำหรับตั้งท่อพีวีซี ขนาด 1.5-2 นิ้ว ให้อากาศ ที่ก้นบ่อสามารถระบายขึ้นมาได้ จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดใหญ่ที่ชั้น ล่างสุด แล้วใส่หินเขื่อนขนาดกลางหรือเศษวัสดุ เช่น เศษอิฐ เศษกระเบื้อง ขวดแก้ว ในชั้นตรงกลาง จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดเล็กเอาไว้ชั้นบน ปลายท่อด้านบนควรใส่ท่อขวางไว้เพื่อป้องกันเศษวัสดุตกลงไป อุดตัน หินเขื่อน เป็นหินก้อนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 3-15 นิ้ว

ทั้งนี้ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรแก้ปัญหา ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง บำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน สมดังคำว่า "น้ำคือชีวิต" ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และมั่นคง


แหล่งที่มา

นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 พ.ค. 2565
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู