ข่าวสาร
M40 นิเวศวิทยาทางน้ำ
23 ธันวาคม 2564
หุ่นไล่ปลา คุมกำเนิดฝูงปลาต่างด้าวในพื้นที่ปิด

ยุทธวิธีใช้สัตว์ผู้ล่ามาควบคุมประชากรสัตว์ไม่พึงประสงค์เคยเป็นกระแสการควบคุมผู้รุกรานทางชีวภาพที่มาแรง และได้รับความนิยมอย่างมากในวงการสาธารณสุข และการเกษตรในอดีต ช่วงทศวรรษที่ 1900s การอิมพอร์ต “ปลากินยุง (Mosquitofish)” หรือ “แกมบูเซีย (Gambusia)” ซึ่งเป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาสอด และปลาหางนกยูง มาใช้ควบคุมประชากรยุงร้ายเป็นที่นิยมมากในหลายประเทศในเขตร้อน ซึ่งฟังเผินๆ ยุทธศาสตร์แบบนี้น่าจะดีและไม่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ อยากกำจัดยุงก็เอาปลากินยุงมาปล่อยให้คอยเขมือบลูกน้ำและไข่ยุงก็จบเรื่อง แต่ปัญหาก็คือ ปลากินยุงที่ปล่อยไปไม่ได้กินแต่ไข่ยุง ลูกน้ำ และแมลงไม่พึงประสงค์ แต่มันกินหมดทั้งไข่กบ ไข่ปลา ลูกอ๊อด ลูกปลา ตัวอ่อนแมลงอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ด้วย แถมยังสร้างความรำคาญและความเสียหายให้ปลาเจ้าถิ่นอื่น ๆ ครีบขาด หางแหว่ง จนอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการล่าหาอาหาร หรือในกรณีที่หนักหน่อย ปลาที่ครีบขาด หางแหว่งวิ่นก็อาจหมดโอกาสในการผสมพันธุ์ไปเลยก็มี ที่สำคัญอัตราการเจริญเติบโตของปลากินยุงนั้นไวมากจนสามารถยึดครองพื้นที่ แย่งแหล่งอาหาร แถมยังไม่มีศัตรูทางธรรมชาติเลยสามารถขยายเผ่าพันธุ์จนปลาและสัตว์น้ำเจ้าถิ่นหลายชนิดนั้นแทบสูญพันธุ์

สถานการณ์การคุกคามของปลาเหล่านี้สาหัสขนาดที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ออกคำแนะนำออกมาว่า ถ้าใครไปตกปลาแล้วจับได้ปลากินยุงสังหารทิ้งได้เลย ไม่ต้องโยนกลับลงแม่น้ำ แต่แม้จะมีมาตรการถึงขั้นนั้น ปลากินยุงก็ยังแพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงในหลายประเทศ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศอย่างมหาศาล ปลากินยุงจึงถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ต่างด้าว (Foreign species) ที่ขึ้นชื่อลือชา เป็นผู้บุกรุกทางชีวภาพ (Bioinvader) ที่แข็งแกร่งในระดับตำนาน และยากที่จะกำราบให้อยู่หมัด

การคุกคามจากปลาต่างถิ่นรุกรานอย่างปลากินยุงนี้ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างมากมายมหาศาล นั่นทำให้ผลงานวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia) และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร iscience ไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างมหาศาล พวกเขาค้นพบวิธีลดการแพร่พันธุ์ของฝูงปลากินยุงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม...โดยใช้หุ่นยนต์! หุ่นที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นเป็นหุ่นปลาที่มีหน้าตาเลียนแบบมาจากปลากะพงปากกว้าง (Largemouth bass) ที่เป็นผู้ล่าหลักของปลากินยุง ซึ่งไม่ได้ล่า แค่มีไว้ขู่

“แทนที่จะฆ่ามันทีละตัว เราได้นำเสนอแนวทางการออกแบบกลวิธีที่ดีกว่าในการควบคุมฝูงปลาผู้รุกรานที่สร้างปัญหาในระดับโลก โดยการทำให้ฝันที่ร้ายที่สุดของพวกมันกลายเป็นความจริง” จิโอวานนิ โพลเวอริโน (Giovanni Polverino) หนึ่งในนักวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียกล่าว
“พวกเราได้สร้างหุ่นยนต์ที่ดูน่าสะพรึงกลัวที่สุดเฉพาะสำหรับพวกมัน แต่ไม่ส่งผลกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ขึ้นมา หุ่นปลากะพงปากกว้างจะถูกออกแบบให้ว่ายฉวัดเฉวียนไปมาในบ่อเลี้ยงปลากินยุง ราวกับว่ากำลังโหยหาเหยื่ออันโอชะ และการว่ายไปมาของหุ่นปลากะพงนี้จะสร้างความตื่นตระหนกให้พวกปลากินยุง ทำให้ฝูงปลาเหล่านั้นตกอยู่ในความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อเจอหุ่นยนต์ปลา พวกปลากินยุงจะว่ายรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ อย่างไม่มีแบบแผน การง่วนอยู่กับการหลบภัยของพวกปลากินยุงนี้จะเป็นผลดีกับกบและสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่เคยถูกพวกมันรังควานไม่เลิก มีโอกาสอยู่รอด หาอาหารและสืบต่อเผ่าพันธุ์แข่งขันกับฝูงปลากินยุงได้ต่อไปในระบบนิเวศ หลังจากที่เริ่มศึกษาความแตกต่างของปลากินยุงจากหลาย ๆ บ่อ พวกเขาพบกว่าพวกปลาที่อยู่ในบ่อที่ใส่หุ่นปลากะพงปากกว้างลงไป เมื่อเปรียบเทียบกันจะมีรูปร่างที่ผอมเพรียวกว่า ว่ายหลบหลีกหนีได้เร็ว น้ำหนักลด แม้จะกินอาหารเยอะกว่าปลาตัวอื่น ๆ และที่สำคัญจำนวนเซลล์สืบพันธุ์ก็ลดลงไปด้วย

“ฝูงปลากินยุงใช้พลังงานอย่างมหาศาลดำรงชีวิตอยู่ในความกลัว เอาพลังงานสำรองมาใช้จนทำให้มันน้ำหนักลด และจำนวนอสุจิของพวกมันลดลงไปกว่าครึ่ง”การรุกรานของหุ่นยนต์ แม้จะแค่ว่ายไปว่ายมา แต่ก็ได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลในฝูงปลากินยุง และจำนวนเซลล์สืบพันธุ์ที่ลดลง หมายถึงโอกาสในการปฏิสนธิที่ลดลง และนั่นคือ การคุมกำเนิดที่ดีที่สุด"

“คุณไม่ต้องฆ่าพวกมัน” จิโอวานนิเปรย “เราก็แค่อัดฉีดความกลัวเข้าไปในระบบ และความกลัวนี้จะค่อยฆ่าพวกมันอย่างช้าๆ”

“การสังหารหมู่ผู้รุกรานทางชีวภาพนั้นเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ และยังทำให้เกิดคำถามในเรื่องจริยธรรมอีก” ทีมวิจัยเปรยไว้ “การพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศผู้ล่าและเหยื่อที่ จะเป็นข้อมูลในการออกแบบกระบวนการการควบคุมทางชีวภาพแบบใหม่ ซึ่งนั่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง”

และที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พฤติกรรมที่ตื่นตระหนกของฝูงปลากินยุงที่เคยเจอกับหุ่นปลานักล่า พวกมันจะยังคงเครียด เบื่ออาหาร ซึมกะทือ ไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และยังคงมีอาการกระสับกระส่ายอยู่อีกหลายสัปดาห์ แม้ว่าจะหุ่นปลากะพงจะถูกนำออกไปแล้วก็ตาม

“พวกเราตื่นเต้นกันมากกับผลการวิจัยนี้” จิโอวานนิเอ่ย “ผมหวังเหลือเกินว่างานวิจัยของเราที่ใช้หุ่นยนต์ในการควบคุมพฤติกรรมของพวกปลากินยุงจะช่วยเปิดเผยจุดอ่อนของพวกผู้รุกรานทางชีวภาพ และจะนำไปสู่การออกแบบวิธีการจัดการชาติพันธุ์ต่างด้าวรุกรานได้”

จิโอวานนิเผยว่า พวกเขาวางแผนจะทดลองในระยะต่อไปในแอ่งน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ที่มีการรุกรานของปลากินยุงจริง ๆ ในธรรมชาติในออสเตรเลีย

“งานวิจัยนี้อาจจะยังไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่แท้จริง” จิโอวานนิย้ำ คงจะเป็นไปได้ยากที่จะหุ่นพวกนี้ลงไปว่ายวนไปวนมาจริง ๆ ในธรรมชาติ และไม่รู้ว่าหุ่นปลากะพงปากกว้างจะสร้างผลกระทบอะไรแปลก ๆ ที่เราคาดไม่ถึงหรือเปล่า ใครจะรู้อาจจะมีปลาใหญ่มากินหุ่นเข้าไปแล้วท้องอืดก็เป็นได้…

แต่นั่นต้องเป็นเรื่องที่คงต้องทดลองต่อไป แต่ที่สำคัญยังไม่รู้เลยอีกเช่นกันว่า เจ้าปลาหุ่นยนต์จะสามารถหลอกปลากินยุงอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้านำไปใช้จริง ก่อนที่พวกมันจะเริ่มระแคะระคายว่าที่ว่ายไปว่ายมาสร้างความโกลาหลนี่ ที่จริงก็แค่ “หุ่นไล่ปลา!”


แหล่งที่มา

มติชนสุดสัปดาห์
https://www.matichonweekly.com/column/article_501574
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู