ข่าวสาร
L02 อาหารสัตว์
2 ธันวาคม 2564
นักวิชาการจุฬาฯ โชว์ผลวิจัย โพรไบโอติก...จุลินทรีย์ทางเลือก ช่วยยกระดับความปลอดภัยเนื้อสัตว์ เพิ่มความปลอดภัยอาหาร

รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล รองคณบดีวิจัย นวัตกรรม และสื่อสารองค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เผยผลการศึกษาในวารสาร Scientific Report พบ "โพรไบโอติก" มีประโยชน์กับวงการเลี้ยงสุกร ช่วยเพิ่มผลผลิต สุกรสุขภาพแข็งแรง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของเนื้อสุกร แนะเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับฟาร์มเลี้ยงได้ เป็นอีกแนวทางเพิ่มขีดความสามารถ และช่วยสกัดปัญหาเชื้อดื้อยา ตอกย้ำประโยชน์แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

“โพรไบโอติก” และ “พรีไบโอติก” กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นว่ามีโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต อาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งโพรไบโอติกช่วยเสริมสร้างระบบการทำงานที่ดีในลำไส้ให้มีความสมดุล เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีการนำโพรไบโอติกมาใช้ในวงการปศุสัตว์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

โพรไบโอติกและพรีไบโอติก มีคำที่เหมือนกันคือ ไบโอติก จึงมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต หากอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น “โพรไบโอติก” เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เราเรียกว่าแบคทีเรีย โดยจะทำหน้าที่ในการปรับสภาพ ให้มีความสมดุล ส่งผลให้ร่างกายมีความแข็งแรง หรือเป็นการเติมเชื้อที่มีประโยชน์ให้กับร่างกายนั่นเอง ส่วน “พรีไบโอติก” คือ สารอาหารของกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก มักจะผสมอยู่ในอาหารอยู่แล้ว แต่บางกรณีอาจมีการเพิ่มเติมพรีไบโอติกสำหรับเป็นอาหารของโพรไบโอติก เพื่อช่วยสนับสนุนในการสร้างสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ได้มีการประยุกต์ใช้ทั้งกับคนและสัตว์ เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างแพร่หลายเกือบทุกวงการ รวมทั้งภาคปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก หรือสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จนถึงช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะและลดอัตราเชื้อดื้อยา เพิ่มความปลอดภัยอาหาร ส่งผลให้แนวโน้มของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่นำโพรไบโอติกมาใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย “Use of Lactobacillus plantarum (strains 22F and 25F) and Pediococcus acidilactici (strain 72N) as replacements for antibiotic-growth promotants in pigs” โดยทีมนักวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Scientific Report โดยงานวิจัยค้นพบโพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะที่ดี มีความทนทาน และไม่ส่งต่อยีนดื้อยา เมื่อนำมาทดลองใช้กับฟาร์มเลี้ยงสุกร พบว่าโพรไบโอติกช่วยเพิ่มน้ำหนักสุกร มีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วย ช่วยลดหรือทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่ยังทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงอีกด้วย

ข้อดีของการนำโพรไบโอติกมาใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์มีหลายด้านด้วยกัน ประการแรก โพรไบโอติกจะเข้าไปสร้างสารที่มีประโยชน์กับเซลล์ลำไส้ ช่วยเสริมให้มีการดูดซึมแร่ธาตุได้ดีขึ้น และมีการสร้างกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids) ได้ดีขึ้น เราเรียกสารเหล่านี้ว่า โพสไบโอติก ซึ่งเป็นสารมหัศจรรย์ช่วยให้ร่างกายสามารถสื่อสารกับอวัยวะต่างๆ ประสานได้อย่างสอดคล้องสมดุลกันภายใน ดังนั้น การที่มีเชื้อที่สมดุลอยู่ในลำไส้ หรือมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าหรือสามารถควบคุมจุลินทรีย์ที่เป็นโทษได้ จะช่วยให้คนหรือสัตว์มีสุขภาพที่ดีกว่ากลุ่มคนที่มีเชื้อไม่สมดุล ประการต่อมา การที่สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้ ไม่ป่วยง่าย ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จึงช่วยลดการเกิดเชื้อดื้อยาได้ เนื่องจากโพรไบโอติกจะช่วยลดการส่งผ่านยีนดื้อยาของแบคทีเรีย สามารถลดปริมาณเชื้อที่ไม่ดีในร่างกายของสัตว์ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปลอดภัย และลดการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่าการใช้โพรไบโอติกมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

 

อ้างอิงข้อมูล https://www.matichon.co.th/publicize/news_3060033 และ 
https://siamrath.co.th/n/302207

แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู