ข่าวสาร
E16 เศรษฐศาสตร์การผลิต
20 กรกฎาคม 2564
'พาณิชย์' จับมือ 3 สมาคมปุ๋ย ลดราคาปุ๋ย ช่วยเกษตรลดต้นทุน

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยในตลาดปรับราคาสูงขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม รวมถึงปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรึงราคาออกไประยะหนึ่งเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย และตรวจสอบสถานการณ์ราคาและเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพและเพื่อลดภาระการผลิตให้กับเกษตรกร กรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จัดทำโครงการลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

โดยขอความร่วมมือ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร จำนวน 3 สมาคม ประกอบด้วย ผู้ผลิตและนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมี จำนวน 19 ราย โดยมีปุ๋ยที่ได้รับความนิยม รวม 84 สูตร อาทิ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 21-0-0 และ สูตร 15-15-15 เป็นต้น จำหน่ายผ่านสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยลดราคาเฉลี่ยกระสอบละ 20 บาท เป้าหมาย 208,411 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบที่ 1 ได้เชื่อมโยงจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร จำนวน 97 แห่งรวม 591,940 กระสอบ (29,597 ตัน) แบ่งเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 85 แห่ง ยอดรวม 587,980 กระสอบ (29,399 ตัน) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/แปลงใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ยอดรวม 3960 กระสอบ (198 ตัน) ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 11,838,800 บาท ซึ่งสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าภายในยังมีมาตรการการกำกับดูแลด้านปริมาณและราคา โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณผลิต นำเข้า จำหน่าย คงเหลือ สถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน ภายในวันที่ 10 ของเดือน ผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย และผู้นำเข้าต้องแจ้งการนำเข้า (ปริมาณ ราคา ยี่ห้อ สูตร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้า ตามประกาศ กกร. ซึ่งกรมการค้าภายในจะได้ติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด


แหล่งที่มา

กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950032
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู