ข่าวสาร
F08 ระบบการปลูกพืช
2 มีนาคม 2564
แอโรโพนิกส์สายพันธุ์ไทย ผุดสตรอว์เบอร์รีสมุทรปราการ

การเพาะปลูกระบบแอโรโพนิกส์เป็นการปลูกพืชให้ส่วนรากลอยอยู่ในอากาศ มีการหมุนเวียนน้ำและสารละลายธาตุอาหาร โดยการใช้ปั๊มอัดผ่านหัวพ่นน้ำผสมกับธาตุอาหารให้เป็นฝอยละเอียดคอยหล่อเลี้ยงราก ตามระยะที่กำหนดตลอด 24 ชม. โดยมีไทม์เมอร์เป็นตัวกำหนดการพ่นตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ต่างจากระบบไฮโดรโปนิกส์ที่เรารู้จักกันดี รากจะแช่อยู่ในน้ำตลอดช่วงอายุพืชแล้วใช้น้ำผสมธาตุอาหารหมุนเวียนทำให้ต้องเปลี่ยนน้ำค่อนข้างบ่อยและเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่า หากไม่ชำนาญพอ

แม้บ้านเราจะรู้จักกับระบบแอโรโพนิกส์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากต้องศึกษาถึงความต้องการสารอาหาร จำนวนครั้งในการพ่นให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ทำให้ระบบที่ออกมายังคงต้องพัฒนาอยู่ แต่ด้วยความไม่หยุดคิดของหนุ่มใหญ่เมืองสมุทรปราการจึงได้คิดค้นระบบนี้จนสำเร็จ แถมด้วยระบบข้อต่ออัจฉริยะที่คิดค้นขึ้นเอง ช่วยให้พืชโตเร็วกว่าเดิม 30-50% ที่สำคัญปลูกพืชได้ทุกชนิด แม้กระทั่งสตรอว์เบอร์รี ที่ทดลองปลูกได้กินลูกมาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว

"เดิมปลูกเมลอน ผักสลัดบนดาดฟ้าด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ ไม่ต่างจากที่เห็นกันทั่วไป กระทั่งคิดค้นสูตรธาตุอาหาร A และ B ของตัวเอง จนเมื่อ 4 ปีที่แล้วเห็นระบบแอโรโพนิกส์ของต่างประเทศแล้วสนใจ เพราะการที่รากลอยในอากาศจะไม่ทำให้รากเน่าและการฉีดพ่นธาตุอาหารและน้ำเป็นฝอย พืชจะได้รับสารอาหารดีกว่าให้น้ำผ่านอย่างเดียว ที่สำคัญไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย แต่ด้วยระบบจากต่างประเทศมีราคาสูงมากเลยไม่ค่อยได้รับความนิยมผมจึงอยากคิดค้นระบบแอโรโพนิกส์ เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกของคนไทย"

รุ่งโรจน์ เวชสิทธิ์ ผู้ไม่เคยหยุดคิดพัฒนาระบบแอโรโพนิกส์สายพันธุ์ไทย เริ่มจากทดลองปลูกเมลอน ผักสลัด ก่อนจะพัฒนาสู่การปลูกสตรอว์เบอร์รี ย่านบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ ถือเป็นการประยุกต์ระบบไฮโดรโปนิกส์กับระบบแอโรโพนิกส์ของต่างประเทศ เพื่อให้ต้นทุนต่ำลงเน้นที่ระบบการฉีดน้ำและธาตุอาหารให้เป็นฝอยละเอียดตรงไปยังรากพืชโดยตรง เมื่อโมเลกุลของน้ำและธาตุอาหารถูกทำให้เล็กลง พืชจะสามารถดูดซับไปใช้ได้เร็วขึ้นและเต็มที่

สำหรับการทำงานของระบบแอโรโพนิกส์สายพันธุ์ไทย จะเริ่มจากนำธาตุอาหาร A และ B ละลายน้ำ นำเข้าถังเก็บน้ำที่อยู่ด้านล่างพื้นที่ปลูก ปั๊มน้ำขึ้นสู่ท่อผ่านข้อต่ออัจฉริยะไปยังถังด้านบน ที่บรรจุอุปกรณ์สร้างออกซิเจนเพื่อเพิ่มอากาศให้น้ำที่ไหลผ่านจากนั้นน้ำและธาตุอาหารที่ผสมกับออกซิเจนจะไหลผ่านท่อมายังด้านล่างบริเวณปลูกพืช ผ่านหัวพ่นฝอยละเอียดที่ติดตั้งไว้ประจำพืชแต่ละต้น ที่สามารถตั้งเวลาได้ตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด แล้วไหลลงสู่ถังเก็บน้ำด้านล่างหมุนเวียนกันไปจนกว่าจะครบครอป

ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 26-29 องศาเซลเซียสในพืชทั่วไป แต่สตรอว์เบอร์รีควบคุมให้นิ่งที่ 25 องศาเซลเซียสเพื่อให้อุณหภูมิไม่แกว่งเพราะอาจกระทบต่อพืช ในโรงเรือนนี้จะติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ไว้ หากอุณหภูมิเกิน 29 องศาเซลเซียสระบบทำความเย็นจะทำงานอัตโนมัติ จากการปลูกที่ผ่านมาพบว่าประหยัดน้ำกว่าระบบไฮโดรโปนิกส์ 50%

นอกจากนี้ยังมีข้อต่ออัจฉริยะเป็นแท่งพลาสติกแข็ง 2 ชิ้นประกบกัน ภายในบรรจุด้วยผงเหล็กและแร่ธาตุต่าง ๆ จากธรรมชาติ เมื่อน้ำผ่านจะสร้างประจุลบ ช่วยปรับค่า pH ให้เป็นกลาง จัดเรียงโมเลกุลของน้ำให้เป็นระเบียบ พืชดูดซึมไปใช้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันโมเลกุลของน้ำก็จะได้รับแร่ธาตุต่าง ๆ ส่งผลให้ผลผลิตออกมาดี รูปทรงสม่ำเสมอ มีขนาดใหญ่ รสชาติดี ย่นระยะเวลาเจริญเติบโตของพืชได้ถึง 30-50% ปัจจุบันได้สิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สนใจสอบถามได้ที่ โทร. 09 0318 1259


แหล่งที่มา

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2564
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู