ตะลึง 4 สยามทิวลิปไทยสะกดสายตาต่างชาติ
พืชกลุ่มกระเจียวและปทุมมา เป็นไม้ดอกเมืองร้อนที่มีสีสันสวยงาม โดดเด่น สะดุดตา มีรูปทรงที่สง่า มีความคงทนของอายุการออกดอกบนต้นและอายุการปักแจกัน ชาวต่างชาติจึงขนานนามไม้ดอกชนิดนี้ว่า "สยามทิวลิป"

ปทุมมาหรือสยามทิวลิปเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจสำคัญมีการส่งออกไปต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ มูลค่าการส่งออก 30–40 ล้านบาท/ปี ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลี
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ประเภทเหง้า โดยเฉพาะดอกปทุมมาและกระเจียว มากกว่า 500 สายพันธุ์ ถือเป็นแหล่งเพาะสายพันธุ์ได้มากสุดในประเทศไทย ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมมา จนประสบความสำเร็จได้ปทุมมาพันธุ์ดีถึง 4 พันธุ์ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน
.
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 1 เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้กระถาง ช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีชมพูเข้ม กลีบเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบสวยงามและบิดเป็นเกลียว ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 50 - 70 วัน ผลผลิตช่อดอกมาก 3 - 4 ดอก/กอ อายุการใช้งานนาน 4 - 7 สัปดาห์
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 2 เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้ตัดดอกปักแจกัน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระสวย สวยงาม แปลกใหม่ กลีบประดับทั้งส่วนบนและส่วนล่างมีสีชมพู ดูอ่อนหวาน ให้ผลผลิตช่อดอกมาก 6 - 8 ดอก/กอ การแตกกอดี ผลผลิตหัวพันธุ์ 5 - 9 หัว/กอ อายุปักแจกันนานถึง 13 วัน
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 3 เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้กระถาง ช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีขาวบริสุทธิ์ สวยสะอาดตา เรียงตัวเป็นระเบียบ อยู่ระดับเดียวกับใบ ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 56 - 62 วัน ผลผลิตช่อดอก 2 - 3 ดอก/กอ และให้ดอกพร้อมกัน อายุการใช้งานในกระถางนาน 4 - 5 สัปดาห์
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 4 เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้ตัดดอกปักแจกัน กลีบประดับแยกชั้นอย่างชัดเจน กลีบประดับส่วนบนสีชมพูปลายกลีบแต้มสีเขียวลายเส้นสีแดง กลีบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบประดับส่วนล่างสีเขียว ด้านล่างของกลีบมีวงสีน้ำตาลแดง ก้านช่อดอกตรงและแข็งแรง ผลผลิตช่อดอก 3 - 7 ดอก/กอ ผลผลิตหัวพันธุ์ 4 - 7 หัว/กอ อายุปักแจกันนาน 14 วัน
ปทุมมาทั้ง 4 พันธุ์เป็นผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ของ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ที่ต้องการสร้างความแปลกใหม่ และความหลากหลายของไม้ดอกไม้ประดับให้กับท้องตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร โทร. 0 5317 0100