ข่าวสาร
E10 เศรษฐกิจการเกษตร
13 มกราคม 2564
3 อุตสาหกรรมห่วงโซ่โอกาสเสี่ยงสูง เหตุจีนประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี ลดพึ่งพาตลาดคู่ขนาน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตามที่จีนประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) นโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (2564-68) คาดเผยแพร่เดือนมีนาคมนี้ เป้าหมายระยะยาว เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจีนเล็งเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีความเสี่ยง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน ส่งผลให้จีนมีข้อจำกัดมากขึ้น ในการเข้าตลาดประเทศต่างๆ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จีนต้องการลดการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมุ่งขยายตลาดในประเทศจากเดิมเน้นผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น ซึ่งจากประชากรกว่า 1,400 ล้านคน การบริโภคภายในประเทศ สามารถเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน จากการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เห็นว่ามี 3 อุตสาหกรรมที่จีนมีความเสี่ยงสูงจากการพึ่งพาการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จีนจะลดการพึ่งพาการนำเข้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเทคโนโลยี 2.อุตสาหกรรมพลังงาน และ 3.อุตสาหกรรมอาหาร

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี จีนต้องพึ่งพาตนเอง ได้แก่ สารกึ่งตัวนำ และวงจรรวม โดยเฉพาะวงจรรวมหรือไอซี เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามากสุด ปี 2562 จีนนำเข้าสินค้าไอซีกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังยากในการก้าวทันคู่แข่ง เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและการผลิตที่ซับซ้อนกว่า รวมถึงใช้สำหรับอุปกรณ์ 5G และ 6G อุตสาหกรรมพลังงาน ปี2562จีนนำเข้าน้ำมันดิบมูลค่า 2.4 แสนเหรียญสหรัฐ และนำเข้าก๊าซกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย และนำเข้าก๊าซจากเติร์กเมนิสถาน แต่เสี่ยงการขนส่งเกิดหยุดชะงักและจีนมุ่งผลิตพลังงานเองในประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารจีนเจอผล กระทบรุนแรงจากโควิด-19 โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และการคาดแคลนผลผลิตเกษตรในอนาคต

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวต่อว่า ปี 2562 จีนนำเข้าไอซีจากไทย มูลค่า 3,874 ล้านเหรียญสหรัฐ หากจีนหันมาผลิตเองมากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในอนาคต ขณะที่จีนมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสของไทย ส่วนสินค้าอาหาร แม้จีนพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้า แต่อาหารหลัก เช่น ข้าว คาดจีนยังขาดแคลนในอนาคตเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย เช่นเดียวกับ ผลไม้ ไก่ กุ้ง อาหารปรุงแต่ง เป็นต้น


แหล่งที่มา

มติชนฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู