ข่าวสาร
E16 เศรษฐศาสตร์การผลิต
24 พฤศจิกายน 2563
ฟาร์มโตะ สตาร์ทอัปด้านเกษตร มิติใหม่ตลาดยุค 4.0 ร่วมปลูก ร่วมเป็นเจ้าของ

ฟาร์มโตะ FARM TO สตาร์ทอัปด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคให้ได้มาเจอกัน ผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์ ด้วยมิติใหม่ด้านการตลาดของการเกษตรในยุค 4.0 ด้วยการร่วมปลูก และร่วมเป็นเจ้าของ สร้างประสบการณ์การซื้อพืชผลการเกษตร ตั้งแต่วันแรกตกลงซื้อจนสามารถเก็บผลผลิตได้

นายโอฬาร ธีระสถิย์ชัย หนึ่งใน Co-founder ฟาร์มโตะ เล่าถึงที่มาของฟาร์มโตะ คือ มาร์เก็ตเพลสด้านการเกษตร เกิดจากการรวมตัวของ Co-founder 5 คน ซึ่งเป็นเกษตรกร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอที ส่วนที่มาของของการมาทำฟาร์มโตะในครั้งนี้เกิดขึ้นจากมองเห็นปัญหาของการขายสินค้าการเกษตร เพราะเมื่อผลผลิตออกมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน และถ้าเราเลือกขายที่ตลาดก็จะได้ราคาตลาด ทั้งที่สินค้าของเราเป็นสินค้าเกรดพรีเมียม ด้วยเหตุนี้หนึ่งในหุ้นส่วนของเราจึงตัดสินใจมาแอปพลิเคชันฟาร์มโตะขึ้นมา

หลังจากเปิดแพลตฟอร์มฟาร์มโตะ ช่วงนั้นได้เข้าร่วมโครงการขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA โดยได้งบลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท มาใช้เพื่อทำแพลตฟอร์มฟาร์มโตะ จนถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 2 ปี เราสามารถสร้างช่องทางใหม่ให้สินค้าเกษตร และสินค้าชุมชน ผ่านแอปพลิเคชัน และสามารถเชื่อมระหว่าง ผู้ผลิต สินค้าชุมชนการเกษตร และและผู้บริโภค ที่เข้ามาซื้อชายแลกเปลี่ยนสินค้ากันผ่านแพลตฟอร์มของเรา

สำหรับแพลตฟอร์มฟาร์มโตะ จะแตกต่างจากมาร์เก็ตเพลส รายอื่นๆ เพราะแพลตฟอร์มของเราเกษตรกร หรือผู้ขายจะสร้างสตอรี่เรื่องราวบอกไปยังผู้ซื้อ แอปพลิเคชันของฟาร์มโตะจะมีเกษตรกรนำเสนอสินค้าเกษตรผ่านการสร้างสตอรี่ไปยังผู้ซื้อ ส่วนหนึ่งต้องการแสดงให้เห็นว่า เราตั้งใจผลิต แต่ที่ผ่านมาพอมาถึงปลายทาง ผู้บริโภคไม่ได้รับรู้เลยว่าเราปลูกด้วยความตั้งใจแบบไหน ใส่ปุ๋ยอย่างไร เรารดน้ำแบบไหน แต่พอเราเปิดให้เกษตรกรเพิ่มเรื่องราวต่าง ๆ ของฟาร์มก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เพราะเขาจะได้เห็นขั้นตอนการผลิต ว่าใส่ปุ๋ยแบบไหน และผลิตออกมาอย่างไร ปลอดภัยต่อผู้บริโภคไหม

ทั้งนี้ จากการที่เปิดให้ผู้ซื้อได้ร่วมเป็นเจ้าของ โดยผู้บริโภคก็สามารถเข้าไปดูและเลือกซื้อ หรือจองผลผลิตได้ตั้งแต่วันแรกที่เกษตรกรปลูก และเขาก็จะได้ดูว่า วันนี้ผลผลิตที่เขาซื้อไว้มีการดูแลอย่างไร เพราะเกษตรกรจะถ่ายคลิปและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ส่งเข้ามาในแพลตฟอร์ม และลูกค้าก็สามารถจอยกับทางฟาร์มได้ โดยผู้ซื้อสามารถเข้ามาเยี่ยมชมผลผลิตของตัวเองได้ที่ฟาร์มตลอดเวลา ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย หนึ่งใน Co-founder ผู้ดูแลฟาร์มโตะ กล่าวว่า “ฟาร์มโตะเชื่อว่าการรับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกให้แก่กัน จะทำให้คุณค่าผลผลิตที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่รสชาติที่อร่อยสดใหม่ แต่คือมิตรภาพที่ส่งผ่านจากหัวใจของเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค เมื่อเราร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตไปพร้อมเกษตรกร เราก็จะได้เฝ้าดูผลผลิตเติบโตไปพร้อมคนปลูกตัวจริง เพราะเกษตรกรจะส่งภาพผลผลิตจากฟาร์มมาให้ดูอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับมีป้ายชื่อผู้จองปักไว้ หลังจากนั้นเมื่อผลผลิตค่อย ๆ เจริญเติบโตงอกงามในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้เห็นต้นข้าวเติบโตจนเป็นสีทอง หรือสตรอว์เบอรีตั้งแต่ลูกจิ๋วจนสุกเป็นสีแดงสดพร้อมกิน ก็จะได้เห็นไปพร้อมกับเกษตรกรผู้ปลูกผ่านระบบออนไลน์ชนิดเรียลไทม์ จึงช่วยให้ผลผลิตมีคุณค่าและน่าไว้วางใจเพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภคด้วย”

“การเปิดให้ลูกค้าจองและร่วมเป็นเจ้าของ ที่ผ่านมา จะมีเกษตรกรที่เข้าร่วมไม่มาก เช่น สวนแคนตาลูป ฯลฯ ผมมองว่า การซื้อแคนตาลูปสักลูก คุณไปซื้อที่ไหนก็ได้ ไปซื้อที่ตลาด หรือไปห้างสรรพสินค้าและเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตก็ซื้อได้ แต่สิ่งที่คุณจะไม่สามารถหาซื้อได้คือประสบการณ์ เรื่องราว เราไม่ได้ขายสินค้า แต่เรามาขายประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการเกษตร”

นายโอฬาร กล่าวว่า นอกจากการให้เกษตรกรได้สร้างเรื่องเล่าแล้ว ทางฟาร์มโตะยังทำงานร่วมกับชุมชน โดยลงพื้นที่ไปยังชุมชนที่มีสินค้าคุณภาพ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเราก็ได้เข้าไปชเสาะแสวงหาสินค้าเกษตรคุณภาพดีมานำเสนอผู้ซื้อ และหน้าที่ของเราคือ การทำให้คนเหล่านั้นได้มาเจอกัน เช่น พื้นที่ชุมชนแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนติดท็อป 5 ของโลกว่ามีอากาศดีที่สุดและมีสินค้าชุมชนดีๆ หลายอย่าง เช่น น้ำผึ้งป่า เป็นน้ำผึ้งป่าที่มาจากธรรมชาติ เป็นน้ำผึ้งกลิ่นวานิลลาที่มาจากธรรมชาติ เพราะชาวบ้านทำเป็นโพรงให้ผึ้งมาอยู่ และใส่วานิลลาเข้าไปให้ผึ้งได้กิน น้ำผึ้งที่ได้ก็เลยเป็นน้ำผึ้งวานิลลาที่มาจากธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และด้วยประเทศไทยมีป่าเบญจพรรณอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำผึ้งที่ได้จากป่าเบญจพรรณจึงมาจากเกสรของดอกไม้ชนิดต่าง ๆ น้ำผึ้งที่ได้จึงมีหลายกลิ่น หลายรสชาติ ไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ จากเดิมชาวบ้านจะขายผลผลิตที่หาได้จากธรรมชาติเฉพาะในท้องถิ่น เขาไม่สามารถส่งไปขายที่กรุงเทพฯ ได้ และพอเราสามารถนำสินค้าดีเหล่านั้นออกมาให้คนเมืองได้ซื้อหา ชาวบ้านหรือชุมชนก็สามารถขายสินค้าได้ เรียกว่าเราไปเอาของดีออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จัก ไม่ใช่แค่น้ำผึ้ง ในชุมชนแม่ฮ่องสอนจะมีสินค้าอีกมากมาย ทั้งสินค้าอุปโภค และบริโภคที่มาจากธรรมชาติ ที่เตรียมจะนำเสนอต่อบริโภคในเมือง

สำหรับฟาร์มโตะเน้นขายสินค้ามาตรฐานด้านคุณภาพเป็นหลัก เช่น สับปะรดก็ต้องหวานฉ่ำอร่อย เพราะผลไม้ ผัก และสินค้าเพื่อการบริโภคทุกอย่างที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มของฟาร์มโตะ จะต้องได้มาตรฐานรสชาติมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะต้องเข้าไปดูเรื่องการผลิตว่าได้มาตรฐาน GAP หรือเกษตรอินทรีย์หรือไม่ ถ้าสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้เพื่อยกระดับให้เขาผลิตแบบมาตรฐาน GAP ก็จะส่งเสริม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเราคัดเลือกสินค้าคุณภาพให้ผู้ซื้อที่มาซื้อผ่านแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งอาจทำให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด คนที่จะได้ประโยชน์คือ เกษตรกร เพราะเกษตรกรจะได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดมากกว่า 30% ปัจจุบันแพลตฟอร์มของเรามีเกษตรกรที่เข้าร่วมกว่า 2,000 ราย มีการซื้อขายประมาณ 500 ทรานเซกชั่นต่อเดือน

หลักเกณฑ์คัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของเราจะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาขายได้ แต่การคัดเลือกว่าจะทำคอนแทรกท์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรรายไหน เราก็จะมาดูผลิตภัณฑ์ของเขาว่า มีเรื่องเล่าที่ดีลงในแอปพลิเคชันของเราต่อเนื่องขนาดไหน หลังจากนั้นก็จะสัมภาษณ์ เพื่อให้ทราบกระบวนการผลิตว่าเขาผลิตอย่างไร และสินค้าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเราดูว่าของดีจริงไหม ไม่ใช่ทำครั้งเดียว ต้องมีระยะเวลา ครั้งนี้อร่อย ครั้งหน้าไม่อร่อยใช้ไม่ได้ เน้นสินค้าต้องได้คุณภาพ เพราะฉะนั้นทุกครั้งรสชาติต้องเหมือนเดิม โดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการยกระดับมาตรฐานเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเราให้ได้มาตรฐาน GAP

ในส่วนของลูกค้าของฟาร์มโตะ ที่ผ่านมาจะเป็นลูกค้าประจำ และค่อนข้างจะเป็นกลุ่มลูกค้าในตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนอุปสรรคของแพลตฟอร์มของเรา คือ การเข้าถึง เพราะการที่จะให้คนเข้าถึงต้องใช้งบในการทำการตลาดก้อนใหญ่ แต่เราเป็นสตาร์ทอัป ทุนจำกัด ไม่สามารถทำประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าถึงได้จำนวนมาก แต่เราก็ไม่หยุดการทำงาน สิ่งที่ทำได้คือ การเข้าไปในชุมชน เข้าไปพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หรือนำสินค้าคุณภาพที่ชุมชนมีออกมาให้คนทั่วไปได้เข้าถึง เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ผู้สนใจติดต่อ FB : FARMTO


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู