ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
18 พฤศจิกายน 2563
อ้อยไข่ พืชพันธุ์ใหม่ที่สระบุรี

อ้อยไข่มีลักษณะลำต้นคล้ายต้นอ้อยและต้นข้าวโพด จะออกดอกตรงยอด ใน 1 ลำต้นจะให้ดอก 1 ดอก ลักษณะดอกจะมีเปลือกหุ้มคล้ายข้าวโพดอ่อน แต่ถ้าแกะดูก็มีฝักคล้ายข้าวโพด มีสีเหลืองนวล ประกอบไปด้วยเม็ดเล็กๆรวมตัวกันคล้ายไข่ปลา เป็นที่มาของการเรียกว่า อ้อยไข่ พืชชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยรสชาติคล้ายกะหล่ำดอกแต่หวานกว่า และขยายพันธุ์ได้เร็วจึงเหมาะสำหรับเป็นส่วนหนึ่งของแปลงผัก และปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะตัดแต่งเป็นพุ่มได้สวยงาม และยังมีดอกให้ได้รับประทาน แบบผักปลอดสารอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบอาหารมังสวิรัติ

ชาวอินโดนีเซียจะใช้อ้อยไข่เป็นส่วนผสมของอาหารเมนูพิเศษในงานแต่งงานแบบดั้งเดิมของชุมชนบางกลุ่มเชื้อชาติ ถือว่าให้ความเคารพของพ่อแม่เจ้าสาว เมนูแกงที่มีอ้อยไข่เปรียบเหมือนไข่ปลา ถือว่าเป็นเมนูอาหารที่เป็นมงคล

อ้อยไข่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อ้อยดอกไม้ เป็นพืชตระกูลหญ้า มาจาก คำว่า “Terubuk เทอรูบุก” ซึ่งแปลว่า อ้อยที่เป็นไข่ปลา ก็มาจากลักษณะของดอกนั่นเอง จะมีเม็ดเล็ก ๆ เกาะกันอัดกันแน่นคล้ายไข่ปลามาจากตระกูลหญ้าที่มีชื่อเป็นภาษาละตินว่า Endog tiwu terubuk, Terubus ที่มีชื่อเป็นภาษาละตินว่า (Sacharum edule Hasskarl)

พืชตระกูลหญ้าที่เรียกว่า อ้อยไข่ หรือ เทอรูบุก ในภาษาอินโดนีเซีย ลักษณะลำต้นคล้ายต้นอ้อยและต้นข้าวโพดที่ออกดอก แต่เรานำส่วนของดอกมารับประทาน ด้วยรสชาติที่หวานหอมคล้ายกะหล่ำดอกบวกกับหน่อไม้ฝรั่ง ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารพื้นบ้านที่ให้รสชาติหลากหลาย อ้อยไข่ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่อย่าขาดน้ำ ให้น้ำสม่ำเสมอ แต่ครั้งละน้อยๆ จะทำให้ได้ดอกอ้อยไข่มีขนาดใหญ่สมบูรณ์และมีความหวาน
ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ
- มีฟอสฟอรัสสูงและแคลเซียมสูง รวมทั้งวิตามินซีสูง
- อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ให้วิตามินและเกลือแร่
- มีสารต้านอนุมูลอิสระและแคลอรีต่ำ
- ใน 100 กรัม มีแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด ดังนี้ มีพลังงาน 25 กิโลแคลอรี โปรตีน 4.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม แคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม เหล็ก 2 มิลลิกรัม วิตามินเอ OIU. วิตามินบี1 0.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 50 มิลลิกรัม (ที่มาบรรณานุกรม Renny Sukmawani, Ema Hilma Meilani และ Asep M Ramdan2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Muhammadiyah แห่ง Sukabumi ประเทศอินโดนีเซีย
คุณค่าทางด้านสมุนไพร
ราก
ช่วยแก้ปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นยาขับปัสสาวะ รากยังมีความสามารถในการควบคุมและกระตุ้นอาการอาหารไม่ย่อย อาหารแสบร้อน
ลำต้น
นำมาต้มแก้ร้อนใน ลดไข้ มีสรรพคุณเป็นยาเย็น คล้ายๆ กับลำต้นอ้อยทั่วไป ถึงแม้ว่าลำต้นจะเล็กกว่าต้นอ้อย แต่ถ้าบำรุงให้ดี ลำต้นก็จะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าต้นอ้อย
ใบ
นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ ได้ ต้นอ้อยไข่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ลักษณะใบเหมือนต้นอ้อ ต้นแขมบ้านเรา หรือเหมือนหญ้าบางชนิดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เพราะต้นอ้อยไข่มาจากตระกูลหญ้าเช่นกัน
วิธีปลูก
ใช้ท่อนอ้อยไข่นำไปเพาะชำสักประมาณ 1 เดือน พอออกรากก็นำไปลงแปลงที่ทำแปลงแบบปลูกผักทั่วไป แต่คลุมด้วยฟางข้าว เพื่อเก็บความชื้นของดิน ให้มีการแตกหน่อใหม่อย่างรวดเร็ว ภายในแปลงปลูกห่างกัน 3 เมตร เผื่อการขยายการแตกกอ แต่ระยะห่างของแปลงกว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อกันเป็นทางเดิน จะได้เก็บผลผลิตได้สะดวก เนื่องจากอ้อยไข่แตกกอเร็ว แต่การตัดดอกแต่ละครั้งก็จะรอรุ่นต่อไป ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึงจะเก็บผลผลิตได้ ที่สวนจึงปลูกขยายแปลงหมุนเวียนทุกๆ 2 สัปดาห์ ก็จะปลูกแปลงใหม่หมุนเวียน จึงเหมาะสำหรับท่านที่มีพื้นที่จำกัดก็สามารถทำรายได้เสริมในครัวเรือนได้
ผลผลิต
ใน 1 ลำต้น จะให้ดอกอ้อยไข่ 1 ดอก กออ้อย 1 กอ จะมีต้นอ้อยไข่มากถึง 20-30 ลำ น้ำหนักประมาณ 100 กรัม ต่อ 1 ดอก หลังจากให้ดอกแล้วก็จะตัดออก แล้วก็จะแทงลำต้นใหม่ขึ้นมาอีก ถ้าต้นสมบูรณ์มากก็จะแตกแขนงเป็นลำอ้อยไข่ต้นใหม่ขึ้นมา ก็ยังคงให้ดอกอีก ใน 1 กอ ต่ำสุดจะเก็บได้ 30 ดอก ที่สวนแห่งนี้มีอยู่ 5 แปลง แปลงละ 10 กอ รวมทั้งหมด 50 กอ เฉลี่ยเก็บได้ครั้งละ 1,500 ดอก ราคาขายกิโลกรัมละ 200 บาท อ้อยไข่เป็นพืชใหม่ มีคนรู้จักไม่มากนัก ตอนนี้จึงไม่พอขาย ผลผลิตส่วนใหญ่ลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะ โทร.สั่งซื้อทางออนไลน์ และปากต่อปาก ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะมีฝักอ้อยไข่ขายในแอปพลิเคชัน เช่น ลาซาด้า และชอปปี้ เป็นต้น
โรคและแมลง ถ้าปลูกเพียงเล็กน้อยหรือปลูกเป็นพืชผักสวนครัว เรื่องโรคและแมลงนั้นไม่ค่อยมีให้เห็น แต่ถ้าเกิดการระบาดก็ให้ตัดทิ้งในส่วนที่ระบาด แต่ถ้าปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น ศัตรูพืชชนิดนี้ก็จะคล้ายๆ กับการปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ก็ต้องมีวิธีเบื้องต้น ดังนี้
1. หมั่นตรวจแปลง ขุดและทำลายต้นที่เป็นโรค
2. ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
3. ดูแลเรื่องน้ำในช่วงหน้าแล้ง
4. การบำรุงอ้อยไข่ให้เจริญเติบโตอย่างดีไม่ให้เกิดสภาพความเครียด เช่น มีการให้น้ำ เมื่อจำเป็น มีการปรับปรุงดินโดยการไถกลบใบอ้อยไข่หรือปลูกพืชปุ๋ยสดเมื่อแปลงว่างก่อนการปลูกอ้อยไข่ใหม่

โรคที่รบกวน เช่น โรคกอตะไคร้ สาเหตุจากเชื้อไฟโตพลาสมา (green grassy shoot phytoplasma) ลักษณะอาการ อ้อยไข่ที่เป็นโรคนี้จะแตกกอมาก ลำต้นเป็นฝอยคล้ายกอตะไคร้ ใบก็จะหดเรียวเล็ก แคระแกร็น  และตายลงในที่สุด เกิดจากภาวะแล้งจัดและขาดน้ำเป็นเวลานาน  ถ้าระบาดก็ขุดทิ้งไป และบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยคอก ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคนี้กลับไปปลูกอีก

โรคใบขีดแดง (โรคยอดเน่า) สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Acidovoracavenae subsp. Avenae ลักษณะอาการใบมีเส้นสีแดงเป็นขีดตามความยาวของใบ บางครั้งต่อกันเป็นปื้น เมื่อรุนแรงทำให้มีอาการยอดเน่า ดึงยอดออกได้ง่าย มีกลิ่นเหม็นภายในลำต้นถึงยอด แก้ไขโดยทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง ระบายน้ำออกจากแปลง งดปุ๋ยไนโตรเจนจนกว่าต้นจะฟื้น หรือพ่นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
หนอนและแมลง
หนอนกอลายจุดเล็ก เป็นแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญที่สุด เข้าทำลายอ้อยไข่ให้เสียหายได้มาก และยากต่อการป้องกันกำจัด การเข้าทำลายในระยะแรกจะเห็นได้ยาก จะทราบต่อมาเมื่ออ้อยไข่ถูกทำลายไปแล้ว หนอนเจาะเข้าทำลายทั้งหน่อ ส่วนยอดและลำต้นอ้อยไข่ขณะที่อ้อยยังเป็นหน่อ หนอนจะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับติดดิน  เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้แคระแกร็น และหยุดการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจแปลง ถ้าพบต้นที่เป็นโรคก็ตัดและทำลาย ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
สำหรับผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุพัฒนา นิรังกูล 199/7 หมู่ที่ 6 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โทร. 08 0661 8899

 

 

 

 


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_164438
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู