ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
11 พฤศจิกายน 2563
ส่องเกษตร :เรื่องของถั่วเขียว

ถั่วเขียวเป็นพืชดั้งเดิมที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งขนมหวานอย่างถั่วเขียวต้มน้ำตาล วุ้นเส้นจากแป้งถั่วเขียวที่นับเป็นอาหารสุขภาพ หรือขนมไทยอีกหลายชนิดก็ใช้ถั่วเขียวเป็นส่วนประกอบ ถั่วเขียวจึงเป็นพืชที่อยู่ในระบบการปลูกพืชของเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน

ชาวนา ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำนาจากรุ่นสู่รุ่น มักจะใช้พืชตระกูลถั่วเป็นพืชที่เข้ามาอยู่ในระบบการปลูกข้าวเสมอ โดยเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำนาในฤดูถัดมานักวิชาการเองก็ได้ศึกษาจากพื้นฐานการปฏิบัติของชาวนาดังกล่าวจนทราบว่าพืชตระกูลถั่วสามารถที่จะเพิ่มไนโตรเจนเข้าไปในดิน ทำให้ดินมีธาตุอาหารและอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้น ปรับโครงสร้างของดิน ส่งผลให้เป็นประโยชน์ต่อข้าวที่ปลูกเป็นพืชหลัก รวมถึงพืชตระกูลถั่วยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น จึงเหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นพืชก่อนหรือหลังนาดังนั้นพืชตระกูลถั่วจึงเป็นตัวเลือกที่นักวิชาการแนะนำแก่เกษตรกรเสมอส่วนจะเป็นถั่วชนิดไหนก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างทั้งปริมาณน้ำ สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ตลาด หรือแม้แต่ความคุ้นเคยของเกษตรกรเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อการปลูกข้าวเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐ ระบบการปลูกข้าวของเกษตรกรกลายเป็นการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการว่างเว้นที่นาให้ไม่มีข้าวเลย พืชตระกูลถั่วที่อยู่ในระบบการปลูกข้าวจึงทยอยหายไป การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องทำให้ธาตุอาหารที่อยู่ในดินถูกใช้และชะล้างออกไป ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูงมากขึ้น และเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช สามารถเกิดการระบาดได้อย่างต่อเนื่อง เพราะโรคแมลงเหล่านี้มีพืชอาหารหรือพืชอาศัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับ เกษตรกรต้องหันมาใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ทำลายระบบนิเวศการเกษตรแบบเดิม และเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเกษตรกรเอง ในขณะที่ผลผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับจึงลดต่ำลง ในที่สุดอาชีพทำนาในรูปแบบดังกล่าวก็ไม่สามารถอยู่ได้ในปัจจุบัน

สำหรับถั่วเขียวจัดเป็นพืชตระกูลถั่วอายุสั้น ประมาณ 60-70 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มายาวนานให้มีความเหมาะสมกับระบบการปลูกพืช ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อในฤดูถัดไปได้ รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมการปลูกอย่างเป็นระบบ ขยายความต้องการใช้ประโยชน์ให้เพิ่มขึ้น มีอุตสาหกรรมโรงงานวุ้นเส้นรองรับ และถั่วเขียวถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆมากขึ้น แต่เมื่อระบบการปลูกพืชเปลี่ยนไปทั้งข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ทันการณ์ ส่งผลให้ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วลิสงที่ใช้ในประเทศต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกปี

เป็นธรรมดาของการปลูกพืชที่ต้องมีโรคและแมลงศัตรูพืช เพราะพืชเองก็เป็นแหล่งอาหารของเขาเช่นเดียวกันกับการเป็นอาหารของมนุษย์ มนุษย์จึงพยายามหาวิธีการทำลายศัตรูพืชเหล่านั้น เพื่อให้ตนได้ผลผลิตตามต้องการ เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นโรคใบด่างถั่วเขียวระบาดอย่างรุนแรงในแหล่งปลูกถั่วเขียวต้นฝน โรคดังกล่าวเคยปรากฏมานานมากกว่า 20 ปีได้ จำได้ว่าอาการของโรคจะปรากฏช่วงใกล้เก็บเกี่ยว พบกระจายเป็นหย่อมๆในแปลง โรคดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นในระยะใกล้เก็บเกี่ยว และเมื่อเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกก็ยังให้ผลผลิตได้ หลังจากนั้น 2-3 ปี โรคดังกล่าวก็หายไป นานกว่า 20 ปี จึงมีข่าวว่ากลับมาปรากฏให้เห็นกันใหม่ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวในปีนี้ แต่ในรอบนี้เห็นว่ามีคำแนะนำจากทางราชการไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดในแปลงที่เป็นโรคไปปลูกต่อในฤดูถัดไป ไม่แน่ใจว่ามีข้อมูลทางวิชาการอันใหม่หรือไม่อย่างไร พร้อมกันนั้นก็มีข่าวออกมาว่า เตรียมการจะนำเข้าเมล็ดถั่วเขียวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาเป็นเมล็ดพันธุ์ คงต้องเฝ้าระวังกันให้ดีว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นหรือไม่ เพราะเมล็ดกับเมล็ดพันธุ์นั้นคุณสมบัติมันไม่เหมือนกันการด่วนสรุปโดยข้อมูลทางวิชาการที่ไม่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบสูงมากกว่าที่คิด อย่าให้เกษตรกรต้องบอบช้ำจากการทำงานของภาครัฐอีกเลย

 


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู