ข่าวสาร
L73 โรคสัตว์
15 ตุลาคม 2563
วัคซีนแช่นาโนแบบเกาะติดฯ ต้านโรคเหงือกเน่าในปลา

จากปัญหาที่พบในเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างมากจาก "โรคเหงือกเน่าในปลา" โดยไม่มีวิธีรักษา เป็นแรงบันดาลใจให้ สพ.ญ.สิริกร กิติโยดม นิสิตปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ไขและป้องกันโรคเหงือกเน่าให้กับเกษตรกร จึงเป็นที่มาของงานวิจัย "วัคซีนแช่นาโนแบบเกาะติดเยื่อเมือกต้านโรคเหงือกเน่าในปลา" ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับดีเด่น และเหรียญทองจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 และรางวัลระดับดี การประกวดข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2563 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สพ.ญ.สิริกร กล่าวว่า ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจากอาการเหงือกเน่าในปลา ช่วยป้องกัน และลดความเสียหายได้ อีกทั้งใช้นาโนเทคโนโลยีมาพัฒนา ทำให้ใช้ได้ง่ายมาก เพียงแค่ใส่ลงไปในน้ำแช่ปลา 30 นาที ตัววัคซีนจะให้ผลในการป้องกันปลาจากโรคเหงือกเน่าได้ ต่างจากวัคซีนปลาในรูปแบบเดิมที่ต้องฉีดให้ปลาทีละตัว นอกจากนี้ ทำให้ผู้บริโภคเนื้อปลาได้รับประทานปลาที่ไม่มีสารตกค้างจากการใช้ยา หรือสารเคมี โดยใช้วัคซีนป้องกันแทนการรักษาด้วยยา หรือสารเคมีต่างๆ รวมถึง ช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ส่วนการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในอนาคต จะพัฒนาเพื่อให้นำวัคซีนชนิดนี้ไปใช้กับปลาชนิดอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลา โดยมีภาคเอกชนได้ขออนุญาตนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่แล้ว นอกจากนี้ จะพัฒนาวัคซีนเพื่อขยายให้ครอบคลุมไปถึงเชื้อ Aeromonas และ Streptococcosis เพื่อให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามีวัคซีนป้องกันโรคได้ทั้งหมด


แหล่งที่มา

มติชน ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู