ข่าวสาร
J11 โลจิสติกส์ผลิตผลจากพืช
11 กันยายน 2563
“บ่มกล้วย” ด้วย “เตาดินอบแบบโบราณ” ไม่ง้อแก๊ส

กล้วยเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี เกษตรกรส่วนใหญ่จึงรีบตัดกล้วยดิบออกมาบ่มให้สุกด้วยแก๊สเอทิลีนโดยตรงหรือใช้ถ่านแก๊ส แคลเซียมคาร์ไบด์ โดยทุบถ่านแก๊สเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อถ่านแก๊ส ซุกไว้กลางเข่งกล้วย ก่อนที่จะบรรจุผลไม้ลงไปจนเต็มเข่ง ระหว่างการขนส่งกล้วยจะมีการคายน้ำทำปฏิกิริยาทางเคมีกับถ่านแก๊ส กลายเป็นแก๊สอะเซทิลีนไปกระตุ้นให้กล้วยเริ่มกระบวนการสุก แต่ผู้บริโภคไม่ชอบกล้วยลักษณะนี้ เพราะมีกลิ่นแก๊สติดในเนื้อกล้วย และมีรสชาติไม่อร่อยเหมือนกล้วยที่ปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ

ความจริงในอดีตคนไทยนิยมบ่มผลไม้ให้สุกด้วยเทคนิคง่าย ๆ โดยใช้ “ความร้อนจากธูป” เริ่มจากเรียงกล้วยดิบใส่โอ่ง จุดธูป ประมาณ 7-8 ก้าน ปักใส่แก้วที่ใส่ทรายตั้งไว้กลางโอ่ง ปิดฝาโอ่งให้สนิท รอสัก 2-3 วันจึงค่อยมาเปิดดู จะเห็นกล้วยสุกเหลืองพร้อมกันและมีรสชาติอร่อยตามที่ต้องการ

อีกเคล็ดลับหนึ่งที่น่าสนใจคือ เคล็ดลับการบ่มผลไม้ให้สุก โดยใช้ “เตาดินอบความร้อน” จากภูมิปัญญาชาวบ้านในอำเภอลานสภา จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณสุรศักดิ์ ศรีอำนวย เล่าให้ฟังว่า สมัยปู่ ย่า ตา ยาย นิยมบ่มกล้วยให้สุกด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านแบบโบราณ โดยขุดหลุมลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ขนาดความกว้าง-ยาว ของหลุมขึ้นอยู่กับจำนวนกล้วยที่ต้องการบ่ม เมื่อเตรียมหลุมเสร็จจะนำทางมะพร้าวแห้งมาเผาในหลุม นานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อขับไล่ความชื้นในหลุมดินและมีความร้อนระอุในเนื้อดิน ประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส เปรียบเสมือน “เตาดินอบความร้อน” นั่นเอง

เมื่อเผาหลุมเสร็จ จะนำใบตองสดมากองปูรองก้นหลุม และกล้วยดิบที่หั่นเป็นหวีแล้ววางเรียงบนใบตองที่ปูพื้นไว้ ขั้นตอนต่อมาจะนำใบตองวางคลุมทับกล้วยในหลุมจนมิด จึงค่อยนำดินกลบอีกครั้งหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้เวลาบ่มกล้วยในหลุมประมาณ 1-2 วัน เมื่อเปิดหลุมออกมาจะเห็นผลกล้วยสุกเหลืองพร้อมกันทั้งหมด หากต้องการให้กล้วยสุกงอมอร่อย ควรใช้เวลาบ่มประมาณ 2 วัน

วิธีนี้ทำให้กล้วยสุกโดยไม่ต้องใช้แก๊ส ใช้ต้นทุนต่ำ เพราะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สำหรับเทคนิคนี้อาศัยความร้อนจากดินที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ช่วยบ่มกล้วยให้สุกเหลืองและมีรสหวานอร่อยตามธรรมชาติมากที่สุด

ทั้งนี้ยังเสริมเคล็ดลับการตัดกล้วยแบบง่าย ๆ คือใช้มีดฟันต้นกล้วยให้เป็นรอยบากปากฉลามที่ความสูงระดับหน้าอก จากนั้นใช้มือค่อย ๆ ดึงใบกล้วยให้โน้มลงมา วิธีนี้จะทำให้ต้นกล้วยหักโค่นลงและเครือกล้วยแตะถึงดินพอดีโดยไม่ทำให้กล้วยเสียหาย หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามคุณสุรศักดิ์ ศรีอำนวย ได้โดยตรงที่ โทร. 08 9929 6305


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_121
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู