ข่าวสาร
A01 การเกษตรทั่วไป
3 กรกฎาคม 2563
นิวนอร์มอลภาคเกษตร อะไรจะเปลี่ยนไปแค่ไหน

การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อทุกชีวิต ว่ากันว่านับแต่นี้ต่อไป นิวนอร์มอลจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของทุกอาชีพ แล้วภาคเกษตรยุคนิวนอร์มอล การผลิต การค้าขาย จะเปลี่ยนในแบบไหน

“การสำรวจและประเมินโดยมหาวิทยาลัยวาเคนิงเกน เนเธอร์แลนด์ ใน 18 ประเทศแถบเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา เรื่องผลกระทบจากมาตรการการป้องกัน COVID-19 สรุปว่า แม้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 จะไม่กระทบต่อภาคการผลิต แต่กระทบต่อการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดสภาวะความไม่มั่นคงด้านอาหารตามมา”

วิลเลม สะเคร้าต้า อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร สถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย บอกว่า ผลกระทบที่ตามมาในนิวนอร์มอล แรงงานภาคเกษตร โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จะมีจำนวนลดลง อาจไม่เพียงพอ ส่งผลให้แต่ละประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้ครบทุกประเภท

ต้องพึ่งพาอุปสงค์และอุปทานจากแหล่งผลิตระหว่างประเทศ เป็นตัวเร่งให้ทุกฝ่ายทบทวนห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร สู่ระบบการผลิตที่ยั่งยืน หรือปรับระบบการผลิตภาคการเกษตรให้เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

“สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน การล็อกดาวน์ทำให้คุณภาพอากาศและธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เกษตรกรน่าจะใช้ประโยชน์จากดิน น้ำธรรมชาติที่ดีขึ้น ขณะที่แรงงานภาคเกษตรน่าจะเพิ่มขึ้นจากการกลับถิ่นฐาน คนเหล่านี้มีไม่น้อยเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงสื่อโซเชียลได้ สามารถรับรู้ถึงองค์ความรู้ข้อมูลต่าง ๆ หากกลับไปทำเกษตรก็น่าจะยกระดับของเกษตรกรไปอีกขั้น เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความรู้พื้นฐานด้านเกษตร ที่ส่วนใหญ่มีอยู่ในตัวกันอยู่แล้ว”

เป็นความเห็นของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ว่าสถานการณ์นี้จะเป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีหรือสื่อโซเชียลได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคำนึงถึงความปลอดภัย สุขอนามัยมากขึ้น

ฉะนั้น นับแต่นี้เป็นต้นไปเรื่องอาหารปลอดภัย อาหารเป็นยา เกษตรอินทรีย์ บทบาทจะค่อนข้างมาก ตลาดจะเปิดกว้างขึ้น ต่อไปเกษตรกรจะต้องพัฒนาเรื่องของมาตรฐาน จนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

“สถานการณ์นี้ทำให้คนไทยได้บทเรียน ความรู้เพียงด้านเดียว สาขาใดสาขาหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาองค์รวมได้ ช่วยสอนให้คิดถึงอนาคต เรียนรู้ทักษะการปรับตัวแสวงหาความรู้ใหม่ ประยุกต์กับความรู้ที่มีอยู่เดิม และต่อยอดองค์ความรู้ จากคนที่ไม่เคยคิดปลูกอะไร เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น ซื้อหาเอาก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ในเรื่องการปลูกพืชผักกินเอง การทำอาหารให้ได้โภชนาการสูงสุด ไม่ใช่แค่รสชาติอย่างเดียว”

ผศ.ดร.มณฑล ฐานุตตมวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (รักษาการ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า สถานการณ์โควิดทำให้เกษตรกรต้องมาคิดใหม่ ต่อไปคงไม่ต้องเน้นปริมาณผลผลิต แต่เน้นของดี มีคุณภาพ ปลอดภัย

ขณะที่วิถีชีวิตคนจะพุ่งเป้ามาที่การเกษตรมากขึ้น แทบทุกคนจะปลูกพืชผักเป็น ปลูกเอง กินเอง ทุกคนเป็นเกษตรกรกันได้หมด รูปแบบจะเปลี่ยนไปคล้ายอดีต ที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน รูปแบบตลาดก็เปลี่ยนมานำการผลิต

ในมุมของเกษตรกรอย่าง มนตรี เอราวรรณ์ นายกสมาคมชาวยโสธร ผู้สนับสนุนเกษตรกรกลุ่มปลูกฮัก ผลิตพืชผักอินทรีย์ มองว่าการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เกษตรกรขายผลผลิตไม่ได้ ผู้บริโภคก็เข้าถึงผลผลิตได้ยาก ทำให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงง่ายที่สุด

สำหรับด้านการผลิต คงไม่ใช่ปัญหาสำหรับกลุ่มเกษตรกรยโสธร เพราะทำผลผลิตได้มาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย และเป็นสินค้าออร์แกนิกอยู่แล้ว สามารถตอบสนองต่อตลาด ที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคตในยุคนิวนอร์มอล ที่คนหันมาใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้น

ส่วนการตลาดต้องปรับรูปแบบ การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเครือข่ายเกษตรกร ระหว่างพื้นที่ จะมีให้เห็นมากขึ้น อย่างโครงการข้าวของ จ.ยโสธร แลกกับปลาของชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต การเชื่อมโยงเครือข่ายช่วยกันหาตลาดจะเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญต้องหันมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า แล้วขายทั้งแบบขายตรงแบบมีหน้าร้าน ขายส่ง แล้วเพิ่มเติมการค้าขายออนไลน์ ทั้งในสินค้าปกติและสินค้าแปรรูป


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู