ข่าวสาร
F08 ระบบการปลูกพืช
23 พฤษภาคม 2563
ระบบทำนาใหม่...ไร่ละสี่พัน กรมข้าวนำร่องสุพรรณบุรี

ปีนี้ชาวนามีความต้องการปลูกข้าว 60 ล้านไร่ และเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด...เมล็ดพันธุ์ข้าวนิ่ม แต่มีปัญหาเมล็ดพันธุ์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมการข้าวจึงเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เลือก จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่องผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีภายใต้รูปแบบศูนย์ข้าวชุมชน

“การผลิตข้าวให้มีคุณภาพตรงความต้องการตลาดรับซื้อ เมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งจำเป็น หากเมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพ ปลูกไปแล้วจะมีปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง ทำให้ขายไม่ได้ราคา”

       นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ บอกอีกว่า การทำนาแต่ละครั้ง ชาวนาส่วนใหญ่ต้องลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี เตรียมพื้นที่ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เฉลี่ยจะมีต้นทุนไร่ละ 6,000 บาท ปีนี้กรมการข้าวจึงหาแนวทางปรับเปลี่ยนส่งเสริมการผลิตข้าวแบบใหม่ ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และบริษัท ปตท. จำกัด ศึกษาการทำ (นาข้าว) เกษตรแบบแม่นยำในพื้นที่สุพรรณบุรี

       โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ กรมการข้าวจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย เก็บเกี่ยวแล้วต้องนำข้าวทั้งหมดมาขายคืนให้กับกรมการข้าว เพื่อส่งต่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ โดย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำล้านละร้อยจาก ธ.ก.ส.ได้

       “ปัจจุบันบ้านเราชาวนาส่วนใหญ่มีอายุมาก ลงไปทำนาลำบาก ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีจ้างตั้งแต่ปรับพื้นที่ จัดการใส่ปุ๋ยกำจัดวัชพืชระหว่างข้าวเติบโต ไปจนถึงเก็บเกี่ยว ส่วนแรงงานรุ่นใหม่ในอนาคต แนวโน้มหันไปพึ่งเครื่องมือเทคโนโลยีกันมากขึ้น ทีมจาก ม.เกษตรฯและทีมงาน ปตท.จึงรับหน้าที่จัดการตั้งแต่ปรับพื้นที่ วิเคราะห์ดิน ปุ๋ย ทุกขั้นตอนจะใช้โดรนบินถ่ายภาพสำรวจแปลงนา สภาพกล้าข้าว ส่งต่อภาพถ่ายผ่านดาวเทียม แล้วนำมาวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินร่วมกับการตรวจคุณภาพดิน ทำให้ได้คุณภาพดินทั้งก่อนปลูกข้าวและขณะข้าวอยู่ในนาได้อย่างแม่นยำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยด้วยการคาดคะเนเหมือนในอดีต”

        นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว อธิบาย...วิธีการทำนาแบบแม่นยำเป็นโปรแกรมที่ชาวนาประเทศญี่ปุ่นใช้กันอย่างแพร่หลาย วิธีนี้จะมีต้นทุนการจัดการเพียงแค่ไร่ละ 4,000 บาท และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว กรมการข้าวจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ที่ราคาประกันข้าวเปียกความชื้นไม่เกิน 25% ตันละ 11,000 บาท ข้าวแห้งตันละ 14,000 บาท เพื่อนำไปเข้าสู่ขั้นตอนปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อส่งให้เกษตรกรต่อไป วิธีการนี้ชาวนาจะเปรียบเสมือนเป็นเพียงผู้เฝ้าแปลง ส่วนจะได้ผลแบบไหนคงต้องดูกันต่อไปแบบยาวๆ


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู