ข่าวสาร
S30 โรคขาดสารอาหาร
27 กุมภาพันธ์ 2563
กระเจี๊ยบแดง สุดยอดสมุนไพร รักษาภายในดียิ่ง ป้องมะเร็ง ชะลอความแก่ ทำอาหาร-เครื่องดื่มได้หลากหลาย ผลิตครีมหน้าใส สตรีวัยทองต้องไม่พลาด!

กระเจี๊ยบแดง สมุนไพรพืชล้มลุก นิยมปลูกสำหรับนำดอกมาใช้ประโยชน์บริโภคในรูปแบบเครื่องดื่ม อาหาร กระทั่งเป็นยารักษาโรค ขณะที่ทุกส่วนของต้นก็มากสรรพคุณและประโยชน์สารพัด

มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักเก็งเค็ง, ส้มเก็งเค็ง, ส้มตะเลงเครง (ตาก), ใบส้มม่า (ระนอง), แกงแคง(เชียงใหม่), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), แบลมีฉี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง), กระเจี๊ยบ, ส้มเก็ง, ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ), ส้มพอดี (ภาคอีสาน), กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ส้มพอ, ส้มพอเหมาะ เป็นต้น ชื่อภาษาอังกฤษ Rosella, Jamaican sorel, Roselle, Rozelle, Sorrel, Red sorrel, Kharkade, Karkade, Vinuela, Cabitutu มีชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน อินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเจี๊ยบแดง

-ต้น จัดเป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีอยู่หลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง

-ใบ มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีหลายลักษณะ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างและความยาวใกล้เคียงกันประมาณ 8-15 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

-ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ มีกลีบดองสีชมพู หรือสีเหลือง บริเวณกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าคือ สีม่วงแดง ดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเรียวยาวปลายแหลม มี 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้ มีสีแดงเข้มและหักง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร

-ผล ลักษณะของผลเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก ประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล และผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก (Calyx) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง

กระเจี๊ยบแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด

สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง

- ดอก ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด, น้ำกระเจี๊ยบแดงช่วยรักษาโรคเส้นเลือดแข็งเปราะได้เป็นอย่างดี และช่วยรักษาไตพิการ, ช่วยแก้อาการไอ-สารสกัดจากลีบดอกของกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยทองไม่มากก็น้อย

- ใบ ใช้ตำพอกฝีหรือใช้ต้มน้ำเพื่อใช้ล้างแผลได้

- ใบ, ดอก ใช้เป็นยากัดเสมหะ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก

- ใบ, ผล, ทั้งต้น มีสรรพคุณช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือจะใช้ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน หรือจะใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือจะใช้ทั้งต้นใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟจนงวดให้เหลือ 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำผึ้งกึ่งหนึ่ง ใช้รับประทานวันละ 3 เวลา หรือจะรับประทานน้ำยาเปล่าๆ ก็ได้จนหมดน้ำยา

- น้ำกระเจี๊ยบแดง, ผล ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะแล้วดื่มน้ำตาม วันละ 3-4 ครั้ง, ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร, และช่วยแก้อาการคอแห้ง กระหายน้ำ

- น้ำกระเจี๊ยบแดง, เมล็ด ช่วยบำรุงโลหิต, ช่วยแก้ดีพิการ, ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ และช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลาย, ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ลดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอาการปวดแสบ โดยใช้กระเจี๊ยบแห้งบดเป็นผงประมาณ 3 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหาย ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาด 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าผู้ป่วยกว่า 80% มีปัสสาวะที่ใสขึ้นกว่าเดิม และยังพบว่าปัสสาวะมีความเป็นกรดมากขึ้น จึงช่วยในการฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้เป็นอย่างดี

- น้ำกระเจี๊ยบ, เมล็ด, ยอด, ใบ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น

- กลีบเลี้ยงผล, กลีบดอก อุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง


ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง

- กระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้

- กระเจี๊ยบแดงใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วย และน้ำกระเจี๊ยบแดงช่วยทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง, ช่วยแก้อาการร้อนใน, ช่วยลดไข้, ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต, ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน, ช่วยแก้อาการขัดเบา โดยใช้กลีบเลี้ยงของผลหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง นำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม) ใช้ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) แล้วนำมาเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ดื่มติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป

- กระเจี๊ยบแดงใช้ทำเป็นอาหาร ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U. ต่อ 100 กรัม) ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วย อีกทั้งดอกกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำได้หลายเมนู เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

- น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้ หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส
- ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้อีกด้วย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันหวัด เนื่องจากกระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีแดงในกลุ่มเดียวกับที่พบในผลไม้อย่างบลูเบอร์รี แต่กระเจี๊ยบแดงจะมีสารชนิดนี้มากกว่าบลูเบอร์รีถึง 50%

กลุ่มผู้บริโภคที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

- กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

- กระเจี๊ยบแดงอาจลดระดับความดันโลหิตให้ต่ำลงมากเกินไป และเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพในผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ

- กระเจี๊ยบแดงอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องปรับยารักษาโรคเบาหวานด้วย

ที่สำคัญน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันนานๆ เพราะจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ


แหล่งที่มา

นสพ.ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/south/detail/9630000019105
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู