ข่าวสาร
N20 เกษตรกลวิธาน
14 กุมภาพันธ์ 2563
พาราโบลาโดม นวัตกรรมล่าสุดกอบกู้ราคายาง

กลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ ร่วมมือกับ คณะอาจารย์จากหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หาแนวทางช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวสวนยางพารา ให้ผลิตยางได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อจะได้ราคาดี รวมถึงการหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มของยางให้สูงขึ้น

โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ พพ. ร่วมกันคิดค้น "พาราโบลาโดม" หรือ "ระบบอบแห้งยางด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก" เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับใช้อบแห้งยางพาราที่เป็นยางแผ่นดิบ แทนการรมควันด้วยไม้ฟืน เนื่องจากควันและความร้อนจากฟืนเป็นตัวทำลายผิวยางให้เสื่อม และทำให้ยางขาดได้ง่ายขึ้น โดยโมเดลนี้เป็นโมเดลทดลองนำร่องในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอื่น ๆ ทดลองที่ จ.น่าน, อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ, จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.จันทบุรี

          ธนากร จีนกลาง ประธานกรรมการกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ได้รับการติดต่อเพื่อขอติดตั้งพาราโบลาโดมมาใช้ทดลองอบแห้งยางพารา เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยชาวสวนยางในการทำให้ยางได้ราคาดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจึงตกลง ซึ่งได้ทดลองอบแห้งมาระยะหนึ่งแล้ว ผลออกมาดีเกินคาด ยางที่ได้ออกมามีคุณภาพถึง 99.99%...แต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าแสงอาทิตย์หรือแสงยูวีทำลายเซลล์ยางพาราได้เกิน 50% ถ้าเราตากยางตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างยางเครพไม่เกิน 7 วัน ยางจะขาด แต่เมื่อนำมาตากหรืออบแห้งในพาราโบลาโดมผ่านแผ่นโพลิคาร์บอเนต ปรากฏว่ายางอยู่ได้นานขึ้น 1-2 เดือนก็ไม่ขาด เราไม่เคยรู้สิ่งนี้มาก่อน ถือว่าเป็นผลดีแก่ชาวสวนยางมาก เพราะปกติแล้วชาวสวนยางภาคอีสานนิยมผลิตยางก้อนถ้วย เป็นยางคุณภาพต่ำจึงไม่ได้ราคา แต่ถ้าหากสามารถปรับเปลี่ยนมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบอบแห้ง ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

          ที่ผ่านมาชาวสวนไม่ทำยางแผ่นดิบเพราะต้นทุนสูงและขั้นตอนยุ่งยาก ต้องตั้งเป็นโรงงาน แต่ถ้าสามารถติดตั้งพาราโบลาโดมแทน อาจจะทำยางแผ่นดิบมากขึ้น เพราะสามารถอบแห้งแผ่นยางด้วยนวัตกรรมใหม่นี้ ซึ่งลงทุนไม่สูงมากและยังได้แผ่นยางที่มีคุณภาพดีเกือบ 100% สามารถขายได้ราคาดี และยังเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่ายได้ เพราะยางแห้งสนิท ไม่ขึ้นรา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาราคายางได้อย่างเป็นรูปธรรม

          การใช้พาราโบลาโดมอบแห้ง เป็นการใช้แสงธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นฟืนเพื่อ "รมควันยาง" อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้...เลยอยากกระจายความรู้ตรงนี้ เพราะเป็นมิติใหม่และเป็นนวัตกรรมตัวใหม่ล่าสุด ที่สามารถทำให้ยางไทยมีคุณภาพค่อนข้างสูง ยางที่อบได้สามารถเทียบเท่ากับยางแท่ง 5 แอล ซึ่งเป็นยางชนิดที่ต้องลงทุนหลักร้อยล้านขึ้นไป เป็นยางใช้ทำล้อเครื่องบิน หรือสินค้าพรีเมียม ราคาสูง ๆ

          ดร.ประสาน ปานแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานว่าการคิดค้นพาราโบลาโดม ก็เพื่อใช้ตากพืชผลทางการเกษตร เช่น กล้วย พริก กะเพรา ปลา หรือข้าวโพด เพราะผลิตผลทางการเกษตรของไทยจำนวนมากต้องผ่านการตากแห้งหรืออบแห้งหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการถนอมอาหาร หรือแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภค ผลิตผลดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ ธัญพืช เครื่องเทศ สมุนไพร ผักและผลไม้บางชนิด

          เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้การตากแห้งตามธรรมชาติ ซึ่งมักเสียหายจากการรบกวนของแมลงและการเปียกฝน ดังนั้น มองว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง การใช้เทคโนโลยีการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จึงมีความเป็นไปได้สูง พพ.จึงร่วมมือกับหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการพัฒนาระบบอบแห้งพลังแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เพื่อใช้อบแห้งผลิตผลการเกษตรในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมองเห็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้กับยางพารา จึงประสานกับกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณเพื่อนำยางมา ทดลอง ผลเบื้องต้นปรากฏว่าได้ผลดี สามารถทำให้ยางราคาเพิ่มขึ้นมาอีก 3 บาท ที่สำคัญลดปัญหาฝุ่นละอองเพราะไม่ต้องใช้ฟืน

          รมควันยาง 1 กก. ใช้ฟืน 5 บาท และทำให้ยางเพิ่มราคาขายได้อีก 3 บาท ถ้าดูในส่วนต่างของราคาขายไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องเชื้อเพลิงลดได้ 5 บาท ที่สำคัญกว่าคือลดเรื่องมลพิษ ไม่ทำลายต้นไม้ ถ้าใช้การอบแสงอาทิตย์ทั้งช่วยให้ราคายางเพิ่มขึ้นและลดการใช้ฟืนลง 5-8 บาท/ยาง 1 กก. ฉะนั้นน่าจะเป็นผลดีกับชาวสวนยาง ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะสรุปผลภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ก่อนจะแนะนำแก่เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป

          'พาราโบลาโดม' เป็นโครงสร้างระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ประกอบด้วยโครงเหล็กโค้งเป็นรูปพาราโบลา ยึดติดกับพื้นคอนกรีตและปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต ด้านหน้ามีประตูและช่องอากาศไหลเข้า ส่วนด้านหลังมีพัดลมระบายอากาศที่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ภายในระบบอบแห้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะมีท่ออากาศจากเครื่องเผาไหม้ก๊าซ (LPG gas burner) ซึ่งติดตั้งอยู่นอกระบบอบแห้งทางด้านหลัง เพื่อให้ความร้อนเสริม ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะอบแห้งจะวางอยู่บนตะแกรงที่อยู่บนชั้นเหล็กตามแนวยาวของโรงอบแห้ง

          ทำงานโดยอาศัยหลักการเรือนกระจก (Greenhouse effect) คือเมื่อแสงดวงอาทิตย์ส่องผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต เข้าไปตกกระทบผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบต่างๆ ภายในระบบอบแห้ง ผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบเหล่านั้นจะดูดกลืนรังสีดวงอาทิตย์ ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา แต่รังสีอินฟราเรดส่วนใหญ่จะไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตได้ จึงถูกเก็บกักอยู่ภายใน ทำให้อุณหภูมิภายในระบบอบแห้งสูงขึ้น ซึ่งช่วยทำให้น้ำในผลิตภัณฑ์ระเหยออกมาได้เร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ ความชื้นที่ระเหยออกมาจะถูกพัดลมดูดออกไปภายนอก และอากาศจากภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ ทางช่องอากาศเข้าด้านหน้า แผ่นโพลีคาร์บอเนตเป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงช่วยลดการสูญเสียความร้อนจากการพาความร้อน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันฝนและแมลงหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์อบแห้งที่ได้ สีไม่คล้ำ

          สำหรับโครงสร้างรูปทรงพาราโบลา จะช่วยลดแรงต้านลม ก่อสร้างได้ง่าย และยังมีความสวยงามด้วย ถ้าแสงแดดไม่เพียงพอหรือช่วงเวลาฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ให้เปิดเครื่องเผาไหม้ก๊าซ เพื่อให้ความร้อนเสริมได้


แหล่งที่มา

มติชน ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู