ข่าวสาร
H10 ศัตรูพืช
14 กุมภาพันธ์ 2563
แนะวิธีปราบหนอนกระทู้หอมในพริก

            ด้วยสภาพอากาศกลางวันร้อน แดดแรง กลางคืนอากาศเย็นอุณหภูมิลดต่ำลงช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เฝ้าระวังหนอนกระทู้หอม ที่พบได้ในระยะพัฒนาทางลำต้นจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตพริก มักพบตัวหนอนฟักออกจากไข่กัดกินผิวใบส่วนต่างๆ ของพริกเป็นกลุ่ม หากหนอนโตขึ้นจะไปกัดกินทุกส่วนของพืช กรณีหนอนมีปริมาณมากขึ้นผลผลิตพริกเสียหาย และคุณภาพผลผลิตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

           เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสานคือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรไถตากดินและเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อฆ่าดักแด้เป็นการลดแหล่งสะสมและขยายพันธุ์ วิธีกล ให้เกษตรกรเก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย จะช่วยลดการระบาดลงได้ ส่วนการใช้ชีววิธี ให้เกษตรกรใช้ระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็กและพบการระบาดน้อย โดยให้ใช้สารจุลินทรีย์ เช่นเชื้อไวรัสหนอนกระทู้หอม (นิวคลีโอโพลิฮีโดรไวรัส)อาทิ DOA BIO V1 (กรมวิชาการเกษตร) หรือช่วงเย็นให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis subsp.aizawai หรือ Bacillus thuringiensis subsp.kurstaki

           หากพบการระบาดมาก ให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัด โดยใช้สารฆ่าแมลงคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 30มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซีอัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทอกซีฟีโนไซด์ 24%เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นซ้ำตามการระบาด และควรพ่นระยะที่หนอนมีขนาดเล็ก หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง และควรใช้สารฆ่าแมลงสลับกลุ่ม ป้องกันการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นได้


แหล่งที่มา

หนังสือพิมพ์แนวหน้า (ออนไลน์)
https://www.naewna.com/local/472763
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู