ข่าวสาร
A50 วิจัยเกษตร
16 มกราคม 2563
จัดเก็บลอตแรก กัญชา 12,000ตัน

“อนุทิน” ปลื้ม ควงผู้บริหารองค์กรทางการแพทย์ เก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยระดับอุตสาหกรรมลอตแรก 12,000 ต้น ที่ทดลองปลูกในร่มที่ ม.แม่โจ้ ส่งต่อให้ อภ.สกัดเป็นยาขวดละ 5 ซีซีได้ถึง 180,000 ขวด ส่งให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยกับผู้ป่วยกลุ่มโรคต่าง ๆ ในคลินิกกัญชา สถานพยาบาลของรัฐ ลุยทดลองปลูกกัญชาแบบกลางแจ้งต่อ หวังไทยเป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ในอาเซียน

ส่วน “สมศักดิ์” รมว.ยุติธรรม ดันกระท่อมออกจากสารเสพติดเต็มที่ อ้างทำให้รัฐลดค่าใช้จ่ายการสอบสวนดำเนินคดีปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดเสวนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชนกว่า 150 คน ขณะที่ขั้นตอนแก้กฎหมายอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 17 ม.ค.นี้
ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทย 12,000 ต้น นอกจากนี้ยังปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง เป็นต้นแบบใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า วันนี้ยินดีมากที่ได้กลับมา ตลอด 4 เดือนหลังปลูกกัญชาได้เห็นภาพการเจริญเติบโตของต้นกัญชาที่พวกเราปลูกทุกครั้งที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ มาดูและส่งภาพให้ทางไลน์ รู้สึกชื่นใจ ขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของพืชกัญชาที่จะมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ถ้ารู้จักใช้ส่วนสรรพคุณที่ดี นำมารักษาประชาชนให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ถือเป็นคุณประโยชน์มหาศาล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากได้ผล ประเทศไทยอาจเป็นต้นแบบทำให้พืชกัญชาเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นวิวัฒนาการใหม่ทางการแพทย์ ตั้งแต่เข้ามาที่กระทรวงปฏิบัตินโยบายนี้จะเห็นว่าคนให้การยอมรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนที่ประสบภาวะเจ็บป่วย เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัวไมเกรน โรคพาร์กินสัน โรคลมชัก และโรคมะเร็ง ฯลฯ ทุกคนหวังว่าสารสกัดกัญชาหรือน้ำมันกัญชาจะช่วยให้ผู้ป่วยสุขภาพดีขึ้นถึงแม้จะไม่หาย ตนพยายามผลักดันนโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ให้ก้าวหน้ามากที่สุด

“การเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือนแห่งแรกของอาเซียน 12,000 ต้น ปลูกเมื่อเดือน ก.ย.62 ทยอยเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้ง 1,000 กก. มีสารสำคัญทีเอชซี (THC) ซีบีดี (CBD) และสารกลุ่มแคนนาบินอยด์อื่นอีกกว่า 400 ชนิด ส่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สกัดเป็นยาสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยกับกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ วันนี้ยังเริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้งต้นแบบ 4,700 ต้น เพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นครั้งแรกที่นำกัญชาสายพันธุ์ไทยมาผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันแบบเมดิคัลเกรด เป็นการพัฒนาและยกระดับกัญชาสายพันธุ์ไทย ใช้ทรัพยากรในประเทศ พึ่งพาตนเองและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน” รมว.สาธารณสุขกล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาแห้งที่ปลูกโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นวัตถุดิบขององค์การเภสัชกรรม จัดส่งตามแนวทางมาตรฐานการขนส่งที่ดี หรือจีดีพี และมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือจีเอสพี ทวนสอบกลับได้ตั้งแต่ปลายทางถึงต้นทาง ทั้งปริมาณ สภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัยระหว่างขนส่ง มีระบบการบันทึกให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางเป็นไปตามเกณฑ์กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และผลิต
ส่วน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวผลิตสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น อัตราส่วนทีเอชซีต่อซีบีดี 1 ต่อ 1 บรรจุขวด 5 ซีซีประมาณ 180,000 ขวด และประสานกรมการแพทย์ผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญตามความต้องการของผู้ป่วยและการวิจัยด้วยมาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กล่าวว่า กรมการแพทย์นำผลิตภัณฑ์กัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรมไปใช้รักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี หรือจีซีพี รวมถึงศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ วางแผนร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิดซีบีดีเด่น เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ซีบีดีรักษา ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ และข้อเสนอแนะการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) ประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้สมบูรณ์ โดยมีนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชนกว่า 150 คนร่วมเสวนา

นายสมศักดิ์กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีกว่า 50,000 คดี มีทั้งส่งเข้าเรือนจำและปรับเงิน ต้องเสียงบประมาณคดีละ 20,000 บาท ใช้งบไปทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านบาท รวมบุคลากร ตำรวจ อัยการ และศาล หากยกเลิกพืชกระท่อมเป็นยาเสพติด จะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ป.ป.ส.ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทดลองปลูกพืชกระท่อมแบบควบคุมในพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี หลายพันต้นเพื่อเป็นกรณีศึกษา ใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์และเสนอ ครม.ต่อไป

ด้านนายนิยม เติมศรีสุข กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ หลังยกร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ คือจัดให้รับฟังความคิดเห็น ซึ่งยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 17 ม.ค.63 และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอ ป.ป.ส. จากนั้นเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและตรวจร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หาก ครม.เห็นชอบจะส่งต่อไปยังรัฐสภาเพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาต่อไป

 


แหล่งที่มา

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563
https://www.thairath.co.th
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู