ข่าวสาร
A01 การเกษตรทั่วไป
14 มกราคม 2563
“กระถางรักษ์โลก ผงถ่านชีวภาพ” ย่อยสลายเป็นปุ๋ย ทางเลือกใหม่สำหรับสิ่งแวดล้อม

กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงในปัจจุบัน หลายๆ คนมีความต้องการลดโลกร้อนโดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ภายในบ้าน สำหรับผู้ที่มีความชื่นชอบต้นไม้และต้องการดูแลต้นไม้แต่ไม่อยากทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน กระถางรักษ์โลกและถ่านชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์การรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี

นางสาววัชราภรณ์ ศรีพอ เจ้าของธุรกิจกระถางรักษ์โลกและถ่านชีวภาพ บริษัท วีพีเอ ไบโอเทคโนโลยี อินดรัสตรี้ จำกัด เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระถางรักษ์โลกและถ่านชีวภาพนั้น เริ่มจากธุรกิจของที่บ้านนั้นมีการทำการเกษตรและมีปุ๋ยจากมูลสัตว์ธรรมดา หลังจากนั้นเกิดความคิดที่จะพัฒนาให้สามารถเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้น ทำให้เกิดไอเดียการทำกระถางต้นไม้รักษ์โลก และผงถ่านชีวภาพซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทำกระถางจากมูลสัตว์แต่เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น จำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไขโดยการคิดค้นวัตถุดิบที่สามารถย่อยสลาย ไม่มีกลิ่นและสามารถปลูกลงดินได้ โดยจะมีส่วนผสมของแกลบ ขี้เลื่อย ขี้มัน เศษไม้ และใบไม้ต่างๆ จากการเกษตร นำมาผสมและผลิตออกมาในรูปแบบของกระถางต้นไม้ ในส่วนของถ่านชีวภาพเดิมทีมีการปลูกไม้เศรษฐกิจหรือต้นไม้จำนวนมาก เมื่อมีการตกแต่งต้นไม้ เช่น การตกแต่งกิ่ง ตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีเศษไม้จำพวกนี้เหลือจำนวนมาก ทำให้เจ้าของร้านนำเอาเศษไม้เหล่านี้มาทำเผาให้กลายเป็นถ่าน ซึ่งการเผาถ่านนั้นจะไม่เหมือนการเผาถ่านทั่วไป แต่จะเป็นการเผาถ่านแบบสุญญากาศ ไม่มีควัน หลังจากนั้นจึงนำเอาถ่านที่เผานั้นมาเข้าสู่ขั้นตอนการบดให้เป็นผงและผสมส่วนผสมต่าง ๆ ให้สามารถเป็นปุ๋ยได้โดยถ่านชีวภาพนั้นสามารถปรับปรุงบำรุงดิน มีสารอาหาร มีปุ๋ยไปในตัว ทั้งนี้สำหรับการทำการตลาดของกระถางรักษ์โลกทางแบรนด์ได้มีการเข้าร่วมโครงการการส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเป็นการนำเอาสินค้าไปออกบูธเพื่อส่งต่อความรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่สาธารณชนได้อีกหนึ่งช่องทาง รวมถึงได้มีการกระจายสินค้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยเข้าร่วมกับ Shopee นอกจากนี้ขั้นตอนในการทำกระถางนั้นไม่มีความซับซ้อนหรือยุ่งยากอะไร เนื่องจากสามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้มาทำเพื่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยให้การปลูกต้นไม้มีความพิเศษเพิ่มยิ่งขึ้น

นอกจากนี้กระถางต้นไม่รักษ์โลกนั้นถ้าเกิดยังไม่นำไปปลูกจะมีอายุอยู่ได้ถึง 10 ปี แต่ถ้ามีการนำไปปลูกใส่กับต้นไม้ และได้มีการรดน้ำ พรวนดิน ตัวกระถางจะมีอายุการใช้งานได้ 4-6 เดือน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการทำกระถางคือสามารถย่อยสลายได้ เมื่อย่อยสลายไปแล้วก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ที่ปลูกไปด้วย ทั้งนี้ ประโยชน์หลักๆ ของผงถ่านชีวภาพคือการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้สามารถเพิ่มออกซิเจนให้ดิน มีสารอาหารที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพื้นไปด้วย ปัจจุบันผงถ่านชีวภาพมีราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนกระถางต้นไม้ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ใบละ 35 บาท ซึ่งกระถางต้นไม้นั้นจะมีขนาดอยู่ที่ 10x13 เซนติเมตร ทั้งนี้จุดเด่นและความต่างของการใช้กระถางต้นไม้รักษ์โลกและผงถ่านชีวภาพนั้นจะอยู่ที่การลดใช้วัสดุประเภทถุงพลาสติก ถุงเพาะชำ ลดการใช้กระถางพลาสติก รวมถึงความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือกระถางรักษ์โลกของทางร้านสามารถนำไปปลูกลงดินได้โดยไม่ต้องมาแกะถุงเพาะชำออก เนื่องจากเวลาที่ตัดหรือฉีกถุงเพาะชำจะทำให้รากของต้นไม้เกิดความเสียหาย

สำหรับการผลิตกระถางต้นไม้นั้นจะสามารถผลิตได้ใน 2-3 วันซึ่งจะผลิตได้ประมาณ 70-100 ใบ โดยจะทำเก็บเป็นสต็อกไว้ เนื่องจากต้องขึ้นรูปกระถางและนำไปตากเพื่อให้แห้ง ก่อนนำมาวางขาย ส่วนผงถ่านจะมีขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้เวลามากกว่ากระถางต้นไม้ เนื่องจากเมื่อเผาเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องนำไปตากให้แห้ง บดเป็นผงจนละเอียดก่อนถึงจะนำไปบรรจุเพื่อจำหน่ายได้ ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าในวัยทำงาน หรือกลุ่มคนรักต้นไม้รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการรักษ์โลก เมื่อลูกค้ากลุ่มเหล่านี้เจอสินค้าของทางร้านก็จะเกิดความสนใจ และได้มีการเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับผงถ่านชีวภาพว่าสามาถนำไปใช้กับต้นไม้ประเภทไหนหรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการใช้ผงถ่านชีวภาพนั้นสามารถช่วยลดการเกิดแมลงในพืชได้ ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ผลตอบรับจากลูกค้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ลูกค้าประจำที่ทำการเกษตร ทำไร่ทำสวนก็สนับสนุนอยู่เป็นประจำ ส่วนลูกค้าขาจรก็มีแวะเวียนเข้ามาดูสินค้าและซื้อกลับไปบ้าง รวมถึงลูกค้าให้ความสนใจผ่านการที่ทางร้านไปออกบูธต่างๆ ก็ทำให้มีลูกค้าเข้ามาสอบถามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการออกบูธนั้นผลตอบรับจากลูกค้าที่ให้ความสนใจในตัวกระถางต้นไม้จะมีมากกว่าผงถ่านชีวภาพ อย่างไรก็ตามในอนาคตได้มีการวางแผนต่อยอดธุรกิจในเชิงการทำผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ แต่ยังคงความเป็นชีวภาพและรักษ์โลกเหมือนเดิม


แหล่งที่มา

ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/smes/detail/9630000003861
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู