ข่าวสาร
F08 ระบบการปลูกพืช
8 ตุลาคม 2562
ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ลด ละ เลิก สารเคมี ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ ส่งออกมาตรฐาน IFOAM

กลุ่มวิสาหกิจชุมพรเกษตรอินทรีย์คลองโยง นับเป็นกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์กลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครปฐมที่มีความเข้มแข็ง จัดเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ขานรับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมั่นคง สามารถผลิตพืชผักอินทรีย์ป้อนสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเสมอมา โดยไม่มีปัญหาเรื่องของสารตกค้าง รวมถึงปัญหาอื่นๆ เนื่องจากระยะเวลาในการทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย์ของกลุ่มนี้มีระยะเวลาดำเนินการมาร่วม 10 ปี จึงทำให้การปนเปื้อนในดิน และสารเคมีตกค้างในดินและพืชผักหมดไปโดยสิ้นเชิง ประกอบกับปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้วบางส่วน จึงสามารถส่งออกพืชผักบางชนิดไปยังตลาดต่างประเทศได้ อาทิ การส่งผักชีไปประเทศไต้หวัน ในขณะที่สมาชิกที่เหลือกำลังอยู่ในช่วงของการขอรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM

คุณไพบูลย์ สวัสดีจุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง กล่าวว่า กลุ่มฯ มีสมาชิกอยู่ 12 ราย มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่มมาจากความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องการดูแลสุขภาพ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาการทำเกษตรโดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีนั้นส่งผลเสียต่อดิน ทำให้ต้นสูง ผลผลิตน้อย คุณภาพต่ำลง และเกษตรกรมีสุขภาพที่ไม่ดีเพราะต้องปนเปื้อนอยู่กับสารเคมี

“ปลูกพืชต้องเริ่มจากบำรุงดินซึ่งเป็นส่วนสำคัญ โดยเราใช้น้ำหมักชีวภาพทำจากเศษปลาผสมกับเศษผักผลไม้ในแปลง น้ำตาลทรายแดงแบบบออร์แกนิคและสารเร่งซุปเปอร์พด.๒ น้ำหมักที่ได้จะนำไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมัก แล้วนำไปใส่ปุ๋ยให้กับพืช ดินร่วนซุยมากขึ้น พืชเจริญเติบโตได้ดี ในเรื่องโรคและแมลงจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกในแปลงเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในกลุ่ม อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เป็นสมันไพรไล่แมลง” นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงบำรุงดินที่เน้นการใช้พืชตระกูลถั่วหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด พร้อมทั้งปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลงไว้ในแปลงปลูก ซึ่งสามารถเก็บขายสร้างรายได้หลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตผักอีกทางหนึ่ง โดยก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ รวมทั้งทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองด้วยการนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าวและมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช

“จากการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีเลยนั้นทำให้กลุ่มสามารถผลิตพืชผักปลอดภัยส่งต่อให้กับผู้บริโภค โดยไม่ทำลายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ขายได้ราคาดีโดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนในเรื่องของราคา อีกทั้งผักบางชนิดยังสามารถทำตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย อย่างเช่น ผักชีฝรั่งที่ในขณะนี้มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ระดับสากลนั้นสามารถส่งผักชีฝรั่งไปขายยังตลาดต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศ และคาดว่าในอนาคตจะมีผักชนิดอื่นๆ สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก” นายไพบูลย์ กล่าว

ปัจจุบันกลุ่มฯ มีการผลิตพืชผักกว่า 20 ชนิด เป็นการปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจัน ผักสลัด ฝรั่ง เป็นต้น โดยวิธีการปลูกนั้นจะเน้นการปลูกแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดในการปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว ความสำเร็จของกลุ่มเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจและเสียสละของสมาชิก ทั้งยังเป็นเครือข่ายของสามพรานโมเดลจึงมีการประชุมกลุ่มทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเครือข่ายสามพรานโมเดลได้นำระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมพีจีเอสกับกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่าย เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง รับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นการดำเนินการของผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่ไม่ใช่เป็นการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ โดยระบบชุมชนรับรองนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบ การประชุมกลุ่มอย่างต่อเนื่องทุกเดือนทำให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมาร่วมกันแก้ไข


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_126738
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู