ข่าวสาร
H60 วัชพืช
3 กันยายน 2562
กระถินยักษ์...อสูรสีเขียว พืชต่างถิ่นรุกรานที่รุนแรงสูงสุดติดอันดับ 100 ชนิดแรกของโลก และ 51 ชนิดแรกของไทย

กระถินยักษ์
ชื่อสามัญ : Lead tree, White lead tree, Leucaena
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit
วงศ์ถั่ว : (Fabaceae)
ถิ่นกำเนิด : เขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง ปัจจุบันแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติได้เองไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก
       กระถินยักษ์และกระถินบ้าน เป็นพืชชนิดเดียวกัน (Leucaena leucocephala) มีความแตกต่างกันเพียงระดับสายพันธุ์ปลูก (cultivar) เท่านั้น ทั่วโลกมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ปัจจุบันกระถินสายพันธุ์ต่างๆ กระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก ขึ้นปะปนกันจนยากต่อการแยกสายพันธุ์ พันธุ์กระถินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. กระถินบ้าน หรือเรียกว่า พันธุ์อะคาพัลโค มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นเล็ก แตกกิ่งต่ำ และออกดอกเร็วตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน ออกดอกตลอดทั้งปี ฝักมีขนาดค่อนข้างเล็กและสั้น ติดฝักและเมล็ดจำนวนน้อยและโตช้ากว่ากระถินยักษ์ จึงเป็นวัชพืชที่ไม่รุนแรงต่อระบบนิเวศป่าไม้มากเท่ากับกระถินยักษ์ ถูกนำเข้ามาผ่านประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ประมาณ 400 ปีมาแล้ว นิยมปลูกไว้กินยอด
2. กระถินยักษ์มี 2 สายพันธุ์หลัก คือ พันธุ์ซัลวาดอร์ และ พันธุ์เปรู เป็นกระถินที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กันตามธรรมชาติ และพัฒนาสายพันธุ์ต่อมาจนได้พันธุ์ปลูกอีกนับ 100 สายพันธุ์ มีลำต้นสูงใหญ่ทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคแมลงได้ดี เป็นไม้ต้นสูง 15-20 เมตร ลำต้นเดี่ยว-แตกกิ่งต่ำ โตเร็ว ขนาดใบย่อยและฝักใหญ่และยาวกว่ากระถินบ้าน ติดฝักดก ออกดอกนานๆ ครั้ง ยอดกินได้แต่รสชาติขมอมฝาดและมีกลิ่นฉุนมากกว่ากระถินบ้าน
       กระถินยักษ์ทั้ง 2 สายพันธุ์ ถูกนำเข้ามาในไทยประมาณ 50 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่มาจากเกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ ปรับปรุงดิน และปลูกฟื้นฟูป่า กระถินยักษ์ชอบขึ้นตามที่รกร้าง ที่เปิดโล่งทั่วไป ทั้งในเขตเมืองและชนบท ป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบแล้งที่เสื่อมโทรมมีการเปิดแสงลงสู่พื้นดิน หรือตามชายขอบป่า ในพื้นที่ระดับต่ำจนถึง 500 ม. จากระดับน้ำทะเล ออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ชอบสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำฝน 600-2,000 มม./ปี และมีช่วงฤดูแล้งที่ยาวนานมากกว่า 4 เดือน เช่นเขตประเทศไทยตอนบน ส่วนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอากาศชุ่มชื้น กระถินยักษ์จะมีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ไม่ดีนัก เพราะมีโรค แมลง และพรรณพืชท้องถิ่นจำนวนมากควบคุมเอาไว้ กระถินยักษ์จะชอบขึ้นในดินที่สลายตัวมาจากหินปูนหรือหินดินดาน หรือดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 5.5 ขึ้นไป ไม่ทนทานต่อพื้นที่น้ำท่วมและดินชื้นแฉะในช่วงฤดูฝน
ประโยชน์ : ยอดอ่อนและฝักอ่อนรับประทานเป็นผัก แต่ควรต้มก่อนเพื่อลดสารมิโมซีน (mimosine) ซึ่งทำให้โปรตีนไม่ย่อยเกิดอาการท้องอืด และเป็นพิษต่อต่อมไทรอยด์, ใบ กิ่งอ่อน และฝักอ่อน ตัดมาเลี้ยงปศุสัตว์ ให้โปรตีนดิบสูง แต่ควรทำการลดสารมิโมซีนเพราะเป็นพิษต่อสัตว์ ด้วยการตากแดดหรือแช่น้ำประมาณ 1 วัน หรือหมักแล้วผสมกับอาหารอื่นๆ ไม่เกิน 30 % ของน้ำหนักแห้ง, เนื้อไม้ในส่วนแก่นของกระถินยักษ์มีสีน้ำตาลมีความแข็งแรงปานกลาง แปรรูปใช้ในงานก่อสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ทำพื้นปาเก้ หรือทำเครื่องเรือน ทำเยื่อกระดาษ หรือใช้หมักแอลกอฮอล์ได้, กิ่งก้านและลำต้นใช้เป็นไม้ฟืน เผาถ่าน หรือตัดเป็นไม้ค้ำยัน
*ไม่ควรใช้กระถินยักษ์ในการปลูกฟื้นฟูป่า หรือนำไปปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือการปลูกในระบบวนเกษตรที่ไม่มีการดูแลจัดการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพืชที่มีนิสัยรุกรานพืชชนิดอื่นๆ อย่างรุนแรง และใบ กิ่งก้าน ฝักที่ร่วงลงมายังปล่อยสารเคมียับยั่งการงอกและเจริญเติบโตพืชชนิดอื่นๆ อีก (สามารถหาข้อมูลเพิ่มโดยพิมพ์คำว่า Allelopathic effect of Leucaena leucocephala) จึงทำให้พืชป่าไม่สามารถแข่งขันกับมันได้ ผลก็คือป่าไม้จะไม่มีการฟื้นฟูตัวเองกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ หากเราไม่เข้าไปช่วยจัดการตัดสางมันออก แล้วปลูกพืชพื้นเมืองแทรกเข้าไป
การควบคุม : หากพบมีการแพร่ระบาดจำนวนน้อยให้ใช้วิธีตัดทำลาย ส่วนต้นกล้าที่เกิดขึ้นภายใต้เรือนยอด ซึ่งจะเจริญงอกงามเมื่อต้นแม่ตายลงไปแล้ว ให้ใช้วิธีถอน/ขุด หรือไถพรวนแล้วเก็บออกให้หมด หากยังมีการแตกหน่อขึ้นมาอีกจากชิ้นส่วนราก/เหง้าเดิมให้ขุดออกซ้ำอีกครั้ง หลังจากนั้นให้ตรวจหาเพื่อทำลายต้นกล้าไม้ที่อาจงอกขึ้นมาอีกจากเมล็ดที่ตกค้างในดินใต้ต้นต่อไปอีกประมาณ 1 ปี ซึ่งอาจใช้วิธีการปล่อยแพะ แกะ หรือวัว เข้าไปแทะเล็มต้นอ่อนอยู่เป็นประจำจะยิ่งได้ประโยชน์ทั้งสองทาง หลังจากนั้นให้รีบปลูกพันธุ์ไม้ป่าโตเร็วพวก พืชเบิกนำ (pioneer species) ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยเข้าไปทดแทนเพื่อให้ยึดครองพื้นที่แทนหญ้าและไม้ต่างถิ่นอื่นๆ ที่อาจจะกลับเข้ามาอีก (ยกตัวอย่างเช่น พังแหร ปอกระสา อะราง มะเดื่อปล้อง เดื่อปล้องหิน มะหาด โพบาย กะอวม ตีนเป็ด ลำพูป่า กระทุ่ม/ตะกู ลำป้าง กะขนานปลิง ปออีเก้ง สมพง ติ้ว ยมหิน ขี้เหล็กเลือด แสมสาร ปันแถ เพกา ตองแตบ ตองเต๊า สอยดาว กล้วยป่า เป็นต้น) ซึ่งจะเป็นไม้พี่เลี้ยง แล้วตามด้วยพันธุ์ไม้ป่าดั้งเดิมต่อไป (หาข้อมูลพืชป่าเพื่อการปลูกฟื้นฟูป่าได้จาก https://bit.ly/2Y1D2KX)
การใช้สารเคมี : มีความจำเป็นกรณีที่มีการระบาดจำนวนมาก ช่วยประหยัดเงิน เวลา และแรงงานมาก เป็นวิธีที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมบ้างในช่วงที่รอเวลาการสลายตัวตามธรรมชาติของสารเคมี ซึ่งใช้เวลาภายใน 3-18 เดือน แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ทำโดยถากรอบโคนต้น (กาน) สูงจากพื้นดินไม่เกิน 1 ม. ให้ถึงเนื้อเยื่อเจริญ (Cambium) กว้างประมาณ 10-20 ซม. ใช้ Glyphosate (ชื่อการค้าว่า Roundup) ผสมกับน้ำเข้มข้น 50 % หรืออีกสูตรใช้ Garlon 4E ผสมกับน้ำมันดีเซลเข้มข้น 5 % ปริมาณ 100-200 ซีซี (ต่อต้นไม้ขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน 150 ซม.) ทาหรือพ่นไปที่บาดแผล ให้ทำในช่วงฤดูแล้งและไม่มีฝนตกลงมาภายใน 48 ชั่วโมง ต้นไม้จะเริ่มเหี่ยวเฉาแล้วยืนต้นตายภายใน 6-8 เดือน การใช้สารเคมีอาจประยุกต์คู่กับวิธีการตัดทำลาย กรณีที่ต้นไม้มีความสามารถแตกหน่อได้ดี ด้วยการทาสารเคมีที่ตอไม้หลังจากตัดก็จะช่วยฆ่าตอไม้ไม่ให้แตกหน่อกลับขึ้นมาใหม่


แหล่งที่มา

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
https://www.facebook.com/DNP1362/posts/2322903711357857?__tn__=K-R
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู