ข่าวสาร
Q60 การแปรรูปผลิตผลเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร
14 สิงหาคม 2562
ธ.ก.ส.หนุนแปรรูปกล้วยน้ำว้าเขียว เป็น “กล้วยผง” สร้างมูลค่าเพิ่ม 27 เท่า

“ดีปาษณะ” เครื่องดื่มผงกล้วยสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้นำกล้วยน้ำว้าเขียว ซึ่งเป็นผลไม้ในท้องถิ่นมาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยผงสำหรับชงดื่ม ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยดูแลเรื่องระบบย่อยอาหาร บรรเทาการเกิดโรคกระเพาะ และลดกรดไหลย้อน ดีต่อสุขภาพคนไทย ตอบโจทย์คนรักสุขภาพในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ในอนาคต
“คุณเพชร” หรือ คุณศุภลักษณ์ บัวโรย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ เล่าถึงที่มาให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มาระยะหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อย จึงตัดสินใจหันมาลงทุนทำธุรกิจของตัวเองที่บ้านเกิดในจังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มจากรับผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปในท้องถิ่นมาขายที่ตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งกล้วยอบเป็นหนึ่งในสินค้าขายดี แต่เนื่องจากสินค้าที่รับมาจำหน่ายมีคุณภาพไม่คงที่ ครอบครัวคุณเพชรมีที่ดินปลูกกล้วยอยู่แล้ว จำนวน 4 ไร่ จึงตัดสินใจลงทุนผลิตกล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ ต่อมาสินค้าของทางกลุ่มฯ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) 5 ดาว ประจำปี 2559 ทำให้มีกำลังใจที่จะมุมานะพัฒนาสินค้าและขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้ชักชวนชาวบ้านและเกษตรกรในท้องถิ่น จำนวน 20 รายมารวมกลุ่มกัน ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ” เพื่อดำเนินธุรกิจแปรรูปกล้วย เนื่องจากกล้วยอบหรือกล้วยตาก ซึ่งเป็นสินค้าหลักนั้น มีคู่แข่งในตลาดจำนวนมาก และกล้วยตากเป็นสินค้าที่มีอายุสั้นแค่ 2 เดือน ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ทางกลุ่มฯ ได้หาแนวทางในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้าในรูปแบบใหม่ โดยเน้นผลิตสินค้าที่ดีและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
      ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทุนวิจัยโครงการนวัตกรรมด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อโครงการ “ดีปาษณะ” เครื่องดื่มกล้วยน้ำว้าเขียวชนิดผงชงละลาย ที่มีอินนูลินและโอลิโกฟลุกโตส ที่ผ่านการทดสอบวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิจัย แล้วว่ามีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร ลดกรดไหลย้อน ป้องกันการเกิดโรคกระเพาะ ดีปาษณะเป็นเครื่องดื่มผงกล้วยสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ สำหรับชงดื่ม สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 473 วัน หรือประมาณ 1 ปี 3 เดือน
       กล้วยผงที่ผลิตจากกล้วยน้ำว้าดิบแปรรูปเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ทันที มีประโยชน์เรื่องระบบย่อยอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลดกรดไหลย้อน กำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพอย่างแพร่หลาย เพราะรับประทานได้สะดวก ราคาไม่แพง มีหลากหลายรสชาติให้เลือก เช่น รสดั้งเดิม (นมถั่วเหลือง) รสนม รสโกโก้ และรสน้ำผึ้งผสมมะนาว ทั้งนี้จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ ดีปาษณะ ผ่านช่องทางออนไลน์
       นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้เปิดร้านค้าบ้านสบายใจเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในปี 2562 สินค้าหลัก ได้แก่ กล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ กล้วยกวน กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง เครื่องดื่มกล้วยผงสำเร็จรูป กล้วยหอมทอด ฯลฯ สินค้าของทางกลุ่มฯ ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน อย./GMP โดยส่งสินค้าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทุกปี และยังได้รับรางวัลมาตรฐาน มผช. จากสำนักงานอุตสาหกรรม ประจำปี 2561 และล่าสุดได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อะวอร์ด ปี 2562 ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกด้วย
       ผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนาคือ “ซุปหัวปลี” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนา FOOD INNOPOLIS สินค้าเกษตรปลอดภัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป และเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดภูมิภาคตะวันตก โดยสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รับเป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัยดังกล่าว คุณเพชร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ แปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยตากและกล้วยผงเป็นหลัก ยังมีส่วนที่เหลือใช้คือ หัวปลี...ที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งหัวปลีเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจ เพราะมีโปรตีนสูงมาก มีเส้นใยอาหารสูง ให้รสสัมผัสเหมือนการบริโภคเนื้อสัตว์ และมีปริมาณแคลอรีต่ำมาก จึงต้องการพัฒนาซุปหัวปลีที่มีรสชาติคล้ายซุปเห็ด ที่ทุกคนคุ้นเคย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ “หัวปลี” วัตถุดิบเหลือทิ้งในปัจจุบันได้ถึง 100%
       ผู้ที่สนใจอยากซื้อสินค้า หรือเข้าเยี่ยมชม สามารถติดต่อ คุณเพชร หรือคุณศุภลักษณ์ บัวโรย วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ ณ บ้านเลขที่ 84/58 หมู่ที่ 1 ถนนบายพาส อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โทรศัพท์ 08 4354 5615 หรือ petch720@hotmail.com
      


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_119124
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู