ข่าวสาร
A50 วิจัยเกษตร
17 พฤษภาคม 2562
อาจารย์พฤกษศาสตร์ มก. ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "ชมพูไพร"

ชมพูไพร (𝑇ℎ𝑢𝑛𝑏𝑒𝑟𝑔𝑖𝑎 𝑖𝑚𝑝𝑎𝑡𝑖𝑒𝑛𝑜𝑖𝑑𝑒𝑠 Suwanph. & S. Vajrodaya) พืชชนิดใหม่ของโลกสู่การพัฒนาเป็นไม้ประดับชนิดใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถูกค้นพบใน พ.ศ. 2559 และตีพิมพ์ยืนยันการเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในปี 2561 จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) ซึ่งถูกค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย ผศ. ดร. เฉลิมพล สุวรรณภักดี และ รศ. ดร. สรัญญา วัชโรทัย จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย (สกว) ชมพูไพรถูกค้นพบครั้งแรกจากป่าเต็งรัง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี และตีพิมพ์เผยแพร่การเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในวารสาร Blumea ฉบับที่ 63 ซึ่งเป็นวารสารทางด้านอนุกรมวิธานพืชที่เก่าแก่ของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยคําระบุชนิด Impatienoides หมายความว่า ดอกคล้ายดอกเทียนสวน ซึ่งเป็นไม้ประดับนําเข้า ชมพูไพรจัดอยู่ในสกุลเดียวกันกับรางจืด มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ลําต้นค่อนข้างผอม ดอกมีสีชมพูอมม่วงสวยงาม บริเวณตรงกลางดอกมีสีขาวอมเหลือง ดอกตูมมีลักษณะคล้ายดอกกุหลาบแรกแย้ม เมื่อบานเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายกงล้อ มีขนาด 3-5 เซนติเมตร และออกดอกตลอดปี จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นไม้กระถางเลื้อยขึ้นซุ้ม ดอกบานนาน 2-3 วัน และจะทยอยบาน ทําให้สามารถชื่นชมดอกได้ทั้งปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษในการพัฒนาให้เป็นไม้ประดับ ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาการปลูกเลี้ยงในกรุงเทพมหานคร พบว่าชมพูไพรสามารถปลูกเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ดี และมีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นไม้กระถางเลื้อยขึ้นซุ้มต่อไป


แหล่งที่มา

เฟซบุ๊คแฟนเพจ Department of Botany, Kasetsart University, Thailand @BOTANY.KU
http://bit.ly/2Eg61DF
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู