แจ้งเตือน
H10 ศัตรูพืช
29 พฤษภาคม 2568
เตือนภัยการเกษตร : เตือนหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดในช่วงอากาศร้อนและฝนตก

ด้วยในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตกและฝนตกหนักบางแห่ง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ให้เฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายรุนแรงต่อผลผลิตและต้นมะพร้าวได้

ลักษณะการทำลาย
หนอนหัวดำมะพร้าวจะเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ และสร้างอุโมงค์จากเส้นใยผสมกับมูลของตัวเองเพื่อหลบซ่อน ตัวหนอนจะกัดกินผิวใบจากภายในอุโมงค์ ซึ่งหากการระบาดรุนแรง อาจขยายไปถึงก้านใบ จั่น และผลมะพร้าวได้ นอกจากนี้ หนอนหัวดำมะพร้าวอาจทำให้ทางใบหลายทางเสียหายพร้อมกัน และหากปล่อยไว้นานโดยไม่ควบคุม อาจส่งผลให้ต้นมะพร้าวยืนต้นตาย
แนวทางป้องกันกำจัด
กรณีพบการระบาดน้อย–ปานกลาง
1. ทำลายแหล่งอาศัย ตัดใบที่ถูกทำลาย ย่อยสลาย ฝังกลบ หรือจมน้ำทันที เพื่อลดประชากรหนอน
2. ใช้ชีวภัณฑ์ Bacillus thuringiensis อัตรา 80-100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบต้นละ 5 ลิตร ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
3. ปล่อยแตนเบียนตัวห้ำศัตรูธรรมชาติ
* แตนเบียน *Goniozus nephantidis* อัตรา 200 ตัว/ไร่ หรือ
* แตนเบียน *Brachymeria nephantidis* อัตรา 120 ตัว/ไร่
* ปล่อยในช่วงเย็น ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง

กรณีพบการระบาดรุนแรง
1. ต้นมะพร้าวสูงไม่เกิน 4 เมตร พ่นสารเคมีทางใบ ใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1–2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน
* ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
* คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร
* สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร *(พิษสูงต่อผึ้ง)*
* ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร *(พิษสูงต่อกุ้ง)*
หมายเหตุ หากจะปล่อยแตนเบียน ควรพ่นสารเคมีก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2. ต้นมะพร้าวสูงเกิน 4 เมตร ความสูง 4-12 เมตร ฉีดสารเข้าลำต้น
* อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มล./ต้น
* อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 15 มล./ต้น
 กรณีต้นมะพร้าวความสูงเกิน 12 เมตร ฉีดสารเข้าลำต้น
* อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มล./ต้น 
* อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มล./ต้น
วิธีฉีด: เจาะรูเอียง 45 องศา 1–2 รู สูงจากพื้นดิน 0.5-1 เมตร ใส่สารเคมีแล้วอุดรูด้วยดินน้ำมัน
> ประสิทธิภาพการควบคุมหนอนยาวนานประมาณ 90 วัน
> ไม่แนะนำให้ใช้วิธีฉีดสารกับต้นมะพร้าวที่สูงต่ำกว่า 4 เมตร

จึงขอให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ให้ดำเนินการควบคุมตามแนวทางข้างต้นทันที หากต้องการคำปรึกษาหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริการห้องสมุดเพื่อเกษตรกรไทยได้ที่ https://thaifarmer.lib.ku.ac.th/ หรือสอบถามผ่าน Line official ที่ @GuruKasetsart


แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
https://at.doa.go.th/ew/backoffice/upload/374jun681a.pdf
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู