ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน ช่อดอก และผล เมื่อระบาดรุนแรงจะทำให้พืชเหี่ยวแห้งและผลเสียคุณภาพ เพลี้ยแป้งยังถ่ายมูลเป็นน้ำหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของราดำ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิต เพลี้ยแป้งสามารถเคลื่อนย้ายจากพื้นดินขึ้นต้นน้อยหน่าตั้งแต่ระยะออกดอกจนถึงผลแก่ โดยมีมดเป็นพาหะช่วยแพร่กระจาย
แนวทางป้องกันและกำจัด
- หมั่นตรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยลดความเสียหายได้
- ตัดแต่งส่วนที่ถูกทำลาย หากพบการระบาดเล็กน้อย ควรตัดแต่งส่วนที่พบเพลี้ยแป้งแล้วนำไปทำลายนอกแปลง
- ใช้วิธีกายภาพกำจัด เช่น ใช้แปลงปัดออกจากผล หรือฉีดพ่นน้ำแรงดันสูงให้เพลี้ยแป้งหลุดไป
- นอกจากนี้สามารถใช้น้ำผสมไวท์ออยล์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อเคลือบตัวเพลี้ยแป้งและลด
การแพร่ระบาด
ควบคุมมด เนื่องจากมดเป็นตัวพาเพลี้ยแป้งขึ้นต้น ควรใช้เหยื่อพิษกำจัดมด หรือฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงที่เหมาะสม
ใช้สารเคมีเมื่อจำเป็น โดยเลือกใช้
- อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- คาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ควรพ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และสลับกลุ่มสารเคมีเพื่อลดโอกาสดื้อยา
คำแนะนำเพิ่มเติม
หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในช่วงที่มีผึ้งหรือแมลงผสมเกสร
หากใช้สารเคมี ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น เต่าทอง และแตนเบียน เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้ง
การป้องกันที่ดี คือการจัดการแปลงปลูกให้สะอาด ตรวจสอบสม่ำเสมอ และใช้วิธีผสมผสานเพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งอย่างมีประสิทธิภาพ