เตือนการระบาดของด้วงหนวดยาว

ด้วงหนวดยาว (Batocera rufomaculata De Geer) ศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้พืชได้เป็นอย่างมาก และเป็นศัตรูพืชที่เกษตรกรมักระบาดในพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น รวมไปถึงในพื้นที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ก็พบปัญหาหนอนของด้วงหนวดยาวเข้าทำลายในต้นลำพู และต้นลำแพน เช่นเดียวกัน
ด้วงหนวดยาว ลักษณะของตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาล และมีจุดสีส้มหรือสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วปีก เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัว เพศเมียหนวดเท่ากับหรือสั้นกว่าลำตัว จับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเวลากลางคืน โดยใช้ปากที่มีเขี้ยวแข็งแรงขนาดใหญ่กัดเปลือกไม้เพื่อวางไข่แล้วกลบด้วยขุยไม้ชอบวางไข่ซ้ำบนต้นเดิม ไข่คล้ายเมล็ดข้าวสารสีขาวขุ่น หนอนที่ฟักใหม่จะมีสีขาวครีมและตัวหนอนจะกัดกินชอนไชใต้เปลือกไม้ และถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ติดอยู่ภายนอกอาจควั่นรอบต้นทำลายท่อลำเลียงน้ำและท่อลำเลียงอาหาร ทำให้ต้นพืชทรุดโทรมและยืนต้นตายได้ ตัวเต็มวัยมีอายุได้นานกว่า 6 เดือน จึงสามารถพบไข่และหนอนระยะต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมาก

วิธีป้องกันและการกำจัดด้วงหนวดยาวเข้ามาทำลายต้นพืช ได้แก่
1. หมั่นสำรวจการระบาดเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว เมื่อพบร่องรอยการทำลายเช่นมีขุยไม้ที่โคนต้นให้ใช้มีดหรือขวานเฉาะหาตัวหนอนมาทำลาย
2. วางกับดักแสงไฟล่อแมลงตั้งแต่ 19.00 น.เป็นต้นไป และนำด้วงหนวดยาวไปทำลาย
3. ใช้อวนตาข่ายถี่พันรอบลำต้นป้องกันด้วงหนวดยาวตัวเต็มวัยมาวางไข่
4. กรณีพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลงฟิโพรนิล (Ascend 5 % SC) ฉีดพ่นในอัตราส่วน 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
แหล่งที่มา
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี
https://www.facebook.com/SirinartCenter