แจ้งเตือน
H10 ศัตรูพืช
29 กุมภาพันธ์ 2567
ระวังเพลี้ยไฟพริกในมะม่วง
สภาพอากาศในช่วงนี้ มีแดดแรงในตอนกลางวัน เตือนผู้ปลูกมะม่วงในระยะใบอ่อน-แทงช่อดอก รับมือเพลี้ยไฟพริก ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อ และดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอก การทำลายในระยะติดดอกจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล หรือทำให้ติดผลน้อย ส่วนอาการที่ปรากฏบนยอดอ่อนจะทำให้ใบที่แตกใหม่ แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็กๆ สำหรับใบที่ขนาดโตแล้ว เพลี้ยไฟมักลงทำลายบริเวณใบอ่อนโดยเฉพาะหลังใบทำให้ใบม้วนงอ และปลายใบไหม้ ถ้าเป็นการทำลายที่ยอดจะรุนแรง ทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบ หรือช่อดอก
แนวทางป้องกันกำจัด
1. ถ้าพบไม่มากให้ตัดส่วนที่แมลงระบาดไปเผาทิ้ง เพราะเพลี้ยไฟมักอยู่กันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช
2. การพ่นสารฆ่าแมลง ควรพ่นระยะติดดอกอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอกและระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) ถ้าหากพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรงให้พ่นซ้ำในระยะก่อนดอกบาน
3. สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่แนะนำ คือ สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออะบาเมกติน 1.8% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซแอนทรานิลิโพรล 10% โอดี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
* ในขณะที่ดอกบานควรหลีกเลี่ยงการใช้สารดังกล่าว เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสรได้

แหล่งที่มา

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=744331141179436&set=a.257770309835524
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู