ผีเสื้อกลางคืน จำพวกมอธ Jujube lappet moth ชื่อวิทยาศาสตร์คือ (Streblote siva) วงศ์ Lasiocampidae ส่วนมากทำลายพืชตระกูลพุทรา การป้องกันทำได้โดยพ่นสารสกัดจากพืช เช่น สะเดา น้ำหมักตะไคร้หอม หรือน้ำส้มควันไม้เพื่อให้มีกลิ่นไล่ ใช้เหยื่อพิษล่อตัวเต็มวัย โดยใช้ผลไม้สุก เช่น ขนุนสุก หรือสับปะรดตัดเป็นชิ้น ๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วจุ่มในสารกำจัดแมลงคาร์บาริล 85% WP หรือคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50%SP อัตรา 5 กรัมผสมน้ำ 1 ลิตรแช่ประมาณ 5 นาที นำเหยื่อพิษไปแขวนไว้ที่ต้น หรือดัดแปลงกับดักเหยื่อพิษโดยใช้ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ตัดให้เป็นรู 2 รู ขนาดพอที่ผีเสื้อเข้าไปได้ ผสมกากน้ำตาล 100 มิลลิลิตร สารกำจัดแมลงคาร์บาริล 85% WP หรือคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50%SP อัตรา 5 กรัมผสมน้ำ 1 ลิตร แล้วเทสารผสมใส่ขวดประมาณ 20 มิลลิลิตร นำไปแขวนกับดักรอบ ๆ สวน มวนแดงฝ้าย ทำลายกระเจี๊ยบแดงโดยการเจาะดูดกินฝักและเมล็ด ทำให้ฝักไหม้ แห้ง และหลุดร่วง วิธีป้องกันกำจัด ทำได้โดย 1. จับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ทั้งหมดทำลายเสีย โดยจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อนและไข่ในช่วงก่อนฤดูผสมพันธุ์ เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โดยจับตัวเต็มวัยด้วยการเขย่าลำต้นและกิ่ง หลังจากนั้น ค่อยจับทำลายไข่และตัวอ่อน 2. การตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มหนาทึบจะช่วยไม่ให้ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมาหลบอาศัย อีกทั้งช่วยในการกำจัดตัวเต็มวัยหรือตัวอ่อนขณะตัดแต่งกิ่งได้ด้วย 3. การใช้แตนเบียนในการกำจัดไข่และตัวอ่อน โดยเลี้ยงแตนแบนชนิดต่าง ๆ ไว้ในสวน 4. การใช้สารเคมีพ่น โดยเฉพาะในช่วงเดือนผสมพันธุ์และวางไข่ ได้แก่ – Carbaryl (Savin 85% WP) อัตราส่วนผสมที่ 45-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร – Lambdacyhalothrin (Karate 2.5%EC) อัตราส่วนผสมที่ 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ** ทั้งนี้ การพ่นสารเคมีควรเว้นในช่วงออกดอก เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร หรือช่วงที่มีการปล่อยแตนเบียนในไร่ ด้วงหนวดปมจุดเหลืองดำ (Common tuftbearing longhorn) พืชอาหารจะเป็นพวกไม้ยืนต้น เช่น ไม้ป่า และไม้ผล โดยระยะหนอนเข้าทำลายพืชตั้งแต่ส่วนโคนราก โคนต้น ลำต้น และกิ่ง อาจทำให้ลำต้นหักโค่นหรือตายได้ ตัวเต็มวัยจะกัดกินเปลือกและเนื้อไม้ตามกิ่งอ่อน หรือลำต้น และมีนิสัยชอบกัดแทะเปลือกกิ่งหรือลำต้นเพื่อวางไข่ การป้องกันกำจัดทำได้โดย ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชประเภทดูดซึมชนิดเม็ด เช่น ไดโนทีฟูแรน รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใช้สารคลอไพรีฟอส 40 EC ผสมน้ำอัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินรอบโคนต้นเพื่อให้ต้นไม้ดูดซึมเข้าสู่ลำต้นและออกฤทธิ์กำจัดหนอนที่อยู่ภายในลำต้น หรือพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่กิ่งและลำต้นในช่วงที่พบตัวเต็มวัย กรณีพบไม่มากอาจใช้วิธีเก็บออกมานอกแปลงก็ได้ค่ะ
สอบถามครับ พบเจอแมลงในแปลงกระเจี๊ยบแดงครับ ไม่ทราบว่าชื่อของแมลงคืออะไรครับ ทำลายกระเจี๊ยบอย่างไร และป้องกันกำจัดอย่างไรครับ รบกวนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ