ถาม-ตอบ
ความผิดปกติของพืช
ถามเมื่อ 21 เมษายน 2565
ในกรณีที่ใบต้นทุเรียนล่วงดังภาพ ควรแก้ไขอย่างไร และทำให้กลับมามียอดอ่อนได้บ้าง เป็นต้นหลังเก็บเกี่ยวนะครับ และเพิ่งผ่านพายุช่วงที่ผ่านมา

สอบถามไปทาง คลินิกสุขภาพพืช มก.กพส. แจ้งว่า ต้องดูว่าทุเรียนเป็นโรครากเน่าโคนเน่าหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องแก้ที่เชื้อราสาเหตุโรค และทำการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เริ่มปลูก แต่ถ้าเกษตรยืนยันว่าไม่มีโรคก็ต้องรอดูอาการต่อไป เพราะภาพที่ส่งมาไม่สามารถบอกเขิงลึกได้มากนักค่ะ แต่ถ้าเกิดจากอาการถ่ายใบเพราะสภาพอากาศแปรปรวน ก็ต้องลองดูว่าต้นทุเรียนจะแตกใบใหม่ได้มั้ย ส่วนการฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนหลังเก็บเกี่ยว สามารถทำได้ดังนี้ 1. กระตุ้นการแตกใบอ่อนชุดที่ 1 - ทำความสะอาดโคนทุเรียน โดยคราดเอาใบแห้งออก ถอนและกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มออก - ฟื้นฟูราก โดยใส่สารฮิวมิคแอซิด อัตรา 1,000 มิลลิลิตรผสมปุ๋ย 30-20-10 อัตรา 300-500 กรัม ในน้ำ 200 ลิตร พ่นลงดินด้วยเครื่องพ่นแรงดันสูง ทุก ๆ 7 วัน จำนวน 3 ครั้ง - ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 3-4 กิโลกรัม/ต้น ผสมกับสูตร 30-0-0 จำนวน 1 กิโลกรัมหรือ 15-0-0 คลุกเคล้ากันแล้วหว่านลงดินใต้ทรงพุ่มห่างจากโคน 50-70 เซนติเมตร - ตัดแต่งกิ่ง ได้แก่ กิ่งแห้ง กิ่งน้ำค้าง กิ่งฉีกหัก กิ่งซ้อนทับ และกิ่งแซมในทรงพุ่ม - การกระตุ้นให้แตกใบอ่อน โดยการพ่นอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ กลูโคส 600 กรัม ผสมฮิวมิคแอซิด 20 มิลลิลิตร ผสมปุ๋ยเกล็ด 15-30-15 หรือ 10-20-30 ที่มีธาตุรองผสม อัตรา 60 กรัม ผสมยาป้องกันเชื้อราในน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่น 1-2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้แตกใบอ่อนเร็วขึ้น - หลังหว่านปุ๋ยเคมีดังข้างต้นให้ใส่ปุ๋ยรอบ ๆ ชายพุ่มตก สูตร 30-0-0 หรือ 15-0-0 อัตรา 1-1.5 กิโลกรัม/ต้นเพื่อให้รากทุเรียนสามารถดูดไปใช้ได้เต็มที่ - ทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยแล้วต้องรีบให้น้ำตามทันที ปุ๋ยจะไม่สูญเสีย หลังให้น้ำไปแล้ว 10-15 วันทุเรียนจะแตกใบอ่อน *** จากนี้ไปอีกประมาณ 45-60 วัน ใบจะแก่เต็มที่ก็สามารถกระตุ้นให้แตกใบอ่อนชุดที่ 2 ต่อไป - ควรป้องกันกำจัดศัตรูทุเรียน แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยไก่แจ้ หนอนหน้าแมวกัดกินใบอ่อน โรคที่สำคัญได้แก่ โรคแอนแทรคโนส โรคใบติด ราไฟทอปธอร่า 2. การกระตุ้นให้แตกใบอ่อนชุด 2 และ 3 หลังใบอ่อนชุดแรกแก่เต็มที่ อายุ 45-60 วันก็ทำการกระตุ้นให้แตกใบอ่อนชุดที่ 2 เหมือนชุดแรก โดยการแตกใบอ่อนชุดที่ 3 ทำการกระตุ้นเหมือนชุดแรกและชุดที่ 2 ดังนี้ - ให้ปุ๋ยเกล็ด 46-0-0 หรือ 30-20-10 หรือ 20-20-20 ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ทุก ๆ 7-10 วัน- พ่นสารกระตุ้นการแตกใบอ่อน อัตรา 300 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ผสมอาหารเสริมที่มีแม็กนีเซี่ยมสูงอัตรา 300 มิลลิลิตร อาหารเสริมที่มีสังกะสีสูง อัตรา 150-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หลังจากนั้นใบอ่อนจะแตกภายใน 10-15 วัน - ดูแลป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระยะใบอ่อน-ใบเพสลาด


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู