ถาม-ตอบ
การผลิตพืช
ถามเมื่อ 18 มีนาคม 2564
1. พริกดอกร่วง ใบหยิก แก้ไขอย่างไรคะ 2. อยากทำปุ๋ยหมักใช้เองสำหรับปลูกผักสวนครัว แนะนำด้วยค่ะ 3. หลังจากปลูกผักสวนครัว ขอวิธีบำรุงรักษาด้วยค่ะ เพิ่งเริ่มหัดปลูกผักกินเองค่ะแต่เจอปัญหา และลองทำวิธีตาม Youtube แต่ก้อยังไม่ได้ผลค่ะ เริ่มท้อนิดๆ

1. พริกดอกร่วง ใบหงิก แก้ไขอย่างไรคะ - อาการดอกร่วงในช่วงนี้อาจเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด พริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนเก็บเกี่ยว ฉะนั้นการให้น้ำพืชที่เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและลดการระเหยของน้ำด้วยฟางหรือวัสดุคลุมดิน **แต่ไม่ควรใช้แกลบเพราะจะสลายตัวไปหลังการพรวนดินกลบโคน ซึ่งจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตได้ค่ะ - อาการใบหงิกในพริกเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักมาจาก โรคพืชที่มีสาเหตุมาจากไวรัส ซึ่งมีแมลงพาหะ ได้แก่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เป็นต้น โรคที่มีสาเหตุจากไวรัส ที่สำคัญของพริก ได้แก่ 1. โรคใบด่าง พบต้นพริกเตี้ย แคระแกร็น ใบมีอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน บิดเบี้ยว ผิดรูปร่างและลดขนาดเรียวเล็กลง อาจ พบจุดแผลตายเฉพาะแห่งสีน้ำตาลบนใบ ดอกหลุดร่วงง่าย ผลมีผิวขรุขระ ขนาดเล็กลง และอาจพบอาการด่างบนผลพริก 2. โรคเส้นใบด่างประ พบอาการใบด่างสีเขียวหรือเหลือง สลับเขียวเข้ม และมีขีดหรือจุดประสี เขียวเข้มตามเส้นกลางใบ ใบลดรูปมีขนาดเล็กลงและบิดเบี้ยว ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะต้นกล้า ต้นจะแคระแกร็น แตกกิ่งด้านข้างลดลง ติดดอกน้อยลง ดอกร่วงก่อนติดผล หากติดผลผลจะมีขนาดเล็ก ด่าง และบิดเบี้ยว 3. โรคใบหงิกเหลือง พบอาการใบด่างเหลือง เป็นขีดหรือหย่อมโปร่งแสงระหว่างเส้นใบ บางครั้งเส้นใบย่อยมีสีเหลืองและสานเป็น ร่างแหบริเวณโคนใบ ใบโค้งงอ หงิกย่น บิดเบี้ยว ยอดเป็นกระจุก ต้นแคระแกร็น ผลพริกด่าง บิดเบี้ยว และมีขนาดเล็กผิดปกติ แนวทางป้องกัน/แก้ไข 1. ใช้พันธุ์พริกที่ต้านทานโรค 2. ไม่นำผลพริกจากต้นที่เป็นโรค มาเพาะขยายพันธุ์ 3. ควรเพาะกล้าพริกในมุ้งกันแมลง และคัดเลือกกล้าพริกที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก 4. หมั่นตรวจแปลงปลูก หากพบพริกที่แสดงอาการของโรคให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงทันที 5. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้ายางและกระทกรก 6. ไม่ปลูกพืชหมุนเวียนที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น มะเขือต่าง ๆ ยาสูบ แตงกวา ฟักทอง บวบเหลี่ยม และ มะระจีน 7. ไวรัสสาเหตุโรคพืชยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้โดยพ่นสารกำจัดแมลงพาหะนำโรค ดังนี้ - แมลงหวี่ขาว ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร - เพลี้ยอ่อน ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟู แรน 10% ดับเบิลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร นอกจากนี้ อาจเกิดจากเพลี้ยไฟพริกเข้าทำลาย โดยอาจพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทําให้ใบหรือยอดอ่อนหงิกขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทําลายระยะพริกออกดอก จะทําให้ดอกพริกร่วงไม่ติดผลการทําลายในระยะผล จะทําให้รูปทรงของผลบิดงอถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันกำจัด ดังนี้ 1. สุ่มสํารวจพริก และทําการป้องกันกําจัดเมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพราะจะทําให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว 2. ใช้สารป้องกันแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกําจัดแหล่งปลูกใหม่พ่นด้วยคาร์บาริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาดแหล่งปลูกเดิมพ่นด้วยฟิโพรนิล 5% เอสซีอัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาโคลพริด 10% เอสเอล อัตรา 20-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาด **ทั้งนี้ ขณะพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่ กรณีระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ควรใช้ปุ๋ยทางใบเพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น **สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มได้จากเอกสารแนะนำ : พริก, โรคไวรัสในพริก ด้านล่างนี้นะคะ ทั้งนี้ การขาดธาตุอาหารบางชนิดก็จะทำให้ใบพืชแสดงอาการผิดปกติ ซึ่งสามารถสังเกตอาการเปรียบเทียบได้จากข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง : อาการขาดธาตุในพริก 2. อยากทำปุ๋ยหมักใช้เองสำหรับปลูกผักสวนครัว แนะนำด้วยค่ะ - สามารถคลิกอ่านข้อมูลการทำปุ๋ยหมักได้จาก หนังสือการปลูกพืชผักโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ จากข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่าง ในหัวข้อ "การทำปุ๋ยหมัก" ได้ค่ะ 3. หลังจากปลูกผักสวนครัว ขอวิธีบำรุงรักษาด้วยค่ะ - การปลูกผักสวนครัว สิ่งสำคัญคือการปรุงดินหรือการหมักดินปลูก เนื่องจากผักเป็นพืชที่มีระบบรากสั้นและมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น สารอาหารในวัสดุปลูกหรือดินปลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นก็บำรุงด้วยปุ๋ยในแต่ละช่วงก็เป็นสิ่งสำคัญ สูตรปรุงดินให้อุดมด้วยธาตุอาหาร เริ่มจากการทำแปลงยกร่องเล็ก ๆ หรือก่ออิฐบล็อกสูงประมาณหนึ่งคืบจากดิน สับดินหรือพรวนดินให้เป็นก้อนเล็กหรือละเอียด เเล้วโรยอินทรียวัตถุเป็นชั้น ๆ ตามลำดับดังนี้ 1. เริ่มจากชั้นล่างสุด ในดินที่เป็นดินเหนียว จะโรยแกลบดำสองกำมือต่อหนึ่งตารางฟุต (30×30 เซนติเมตร) กรณีที่เป็นดินทราย จะโรยเเกลบดำหนึ่งกำมือต่อ ตารางฟุต เเกลบดำจะช่วยทำให้ดินเหนียวร่วนซุยขึ้นและยังช่วยปรับสภาพดินที่มีสภาพเป็นกรดให้กลายเป็นกลางได้ 2. ดินที่ขาดเเคลเซียม เเมกนีเซียม จะโรย “ ปูนขาว ” (กรณีดินมีค่า pH เป็นกรด) หรือโรย ” ยิปซัม ” เพื่อการเกษตร (กรณีดินมีค่า pH เป็นกลาง) โดยโรยบางๆ ให้ทั่วแปลง 3. มูลสัตว์ที่เเห้งเเล้ว โรยสามกำมือต่อตารางฟุต 4. ปุ๋ยหมักออร์แกนิก สูตรไร่ปลูกรักจะใช้การหมักจากรำข้าว แกลบดำ มูลวัว น้ำหมักชีวภาพ น้ำตาล (โปรดติดตามสูตรในฉบับหน้า) 5. รดน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำตาลและน้ำหนึ่งแก้วต่อหนึ่งตารางฟุต 6. ใช้ฟางข้าวคลุมให้หนามองไม่เห็นดินด้านล่าง เพื่อช่วยป้องกันเเสงเเดดส่องถึงดินที่กำลังหมักไว้โดยตรง และช่วยลดการระเหยของน้ำหน้าดินที่กำลังหมัก 7. รดน้ำเล็กน้อยทุกวันเพื่อควบคุมความชื้น อย่ารดน้ำมากจนปุ๋ยและอินทรียวัตถุไหลออกจากขอบแปลง 8. หมักไว้ 7 วันก่อนปลูก หรือโรยเมล็ดพืชผัก **อ้างอิงข้อมูลจาก : กานต์ ฤทธิ์ขจร https://www.baanlaesuan.com/134218/plant-scoop/organicways ส่วนหลักปฏิบัติเบื้องต้นในการปลูกผักสวนครัว คลิกอ่านได้จากข้อมูลเพิ่มเติม : หลักปฏิบัติเบื้องต้นในการปลูกผักสวนครัวค่ะ


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู