จังหวัดสมุทรสงครามเผยผลสำเร็จการจัดการ “ปลาหมอคางดำ” อย่างเป็นรูปธรรม จากที่เคยพบความหนาแน่นสูงถึง 100 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ล่าสุดเหลือเพียง 5–7 ตัว จากการสำรวจของกรมประมง สะท้อนผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชาวประมง และชุมชน ในการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง
นายวิรัตน์ สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า กิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เดือนละ 2 ครั้ง ช่วยควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำได้ชัดเจน โดยจากที่เคยจับได้มากกว่า 3,000 กิโลกรัมต่อครั้ง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงหลักร้อยกิโลกรัม และเริ่มพบปลาพื้นถิ่นกลับคืนมา
ความสำเร็จนี้เกิดจากการบูรณาการหลายฝ่าย ทั้งกำลังสนับสนุนจากตำรวจ ทหาร ศรชล ผู้ต้องขัง และชุมชนที่ร่วมแจ้งเบาะแส ส่วนภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟสนับสนุนอุปกรณ์จับปลา อาหาร กากชา และลูกพันธุ์ปลาหมอคางดำ
ปลาที่จับได้ถูกแปรรูปหลากหลาย เช่น น้ำหมักชีวภาพ ปลาร้า และอาหารแปรรูป โดยโครงการของการยางแห่งประเทศไทยเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำรวม 750,000 กก. ขณะนี้ขายไปแล้วกว่า 400,000 กก. ช่วยกระตุ้นให้มีการจับปลาเพิ่มขึ้น
อีกความสำเร็จสำคัญคือ “น้ำปลาจากปลาหมอคางดำ” ภายใต้แบรนด์ “หับเผยแม่กลอง” ที่เตรียมเปิดตัวกรกฎาคมนี้ เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างกรมประมง กรมราชทัณฑ์ และซีพีเอฟ ซึ่งยังใช้เป็นเวทีฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง และขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียง
ขณะเดียวกัน ประมงจังหวัดยังสนับสนุน “กองทุนกากชา” และโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” โดยมอบลูกปลากะพงขาวให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อล่าปลาหมอคางดำในบ่อ และสามารถขายปลากะพงสร้างรายได้เพิ่ม
การลดลงของปลาหมอคางดำจึงสะท้อนความสำเร็จของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ที่ไม่เพียงแก้ปัญหาสัตว์น้ำรุกราน แต่ยังฟื้นฟูธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนได้อย่างยั่งยืน