สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เสนอภาครัฐเปิดการนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี และกากถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงปิดรับการนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ และเครื่องใน เนื่องจากห่วงผลกระทบที่จะมีต่ออาชีพเกษตรกรไทย
คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอความเห็นในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา โดยแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่ควรเปิดตลาดสำหรับสินค้าหมวดเนื้อวัว เนื้อหมู เครื่องใน และเนื้อไก่ เนื่องจากประเทศไทยมีการควบคุมสุขอนามัยของผู้บริโภค เช่น การห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตาม พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาในผู้บริโภค
ในส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการมากแต่ผลิตได้ไม่เพียงพอ สามารถเปิดตลาดให้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาได้ รวมถึงข้าวสาลีและกากถั่วเหลือง โดยภาครัฐควรลดอัตราภาษีของกากถั่วเหลืองจาก 2% เพื่อกระตุ้นการนำเข้า พร้อมกำหนดปริมาณการนำเข้าให้พอเหมาะกับความขาดแคลนในประเทศ และกำหนดช่วงเวลานำเข้าให้สอดคล้องกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวของไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม นอกจากนี้ยังควรกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้าให้ใช้เพื่อการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น ห้ามนำมาจำหน่ายต่อในตลาด
สำหรับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 9.2 ล้านตัน แต่สามารถผลิตในประเทศได้เพียง 5 ล้านตัน โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ล้านตัน และนำเข้าข้าวสาลีประมาณ 1.7 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม การปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาแทน
นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเป็นหลัก เนื่องจากต้นทุนต่ำและโปรตีนจากถั่วเหลืองบราซิลสูงกว่าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ สามารถจำหน่ายถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองในราคาที่แข่งขันได้ จะเพิ่มโอกาสในการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ มีปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ การวัดโปรตีนระหว่างไทยและสหรัฐฯ ยังมีความแตกต่าง จึงควรมีการร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มโอกาสในการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น