ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ค้นพบ "กระเจียวสรรพสี" พืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเพียงที่ป่าชุมชน อ.พระธาตุผาแดง จ.ตาก เท่านั้น โดยพืชชนิดนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ใบประดับหลากสีและดอกที่บานก่อนใบ เป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในกระเจียวชนิดอื่น ดอกมีสีตั้งแต่ขาวถึงชมพูอมม่วง และคงความสดได้ยาวนานกว่า 1 เดือน
เนื่องจากกระเจียวสรรพสี มีลักษณะพิเศษที่ยากจะพบในกระเจียวชนิดอื่นคือ ใบประดับที่มีที่สีสันหลากหลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ กระเจียวสรรพสี และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Harlequin curcuma ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma diversicolor ซึ่งมีความหมายว่ามีหลายสีเช่นเดียวกัน
แม้ว่ากระเจียวสรรพสีจะมีประชากรขนาดใหญ่ในถิ่นอาศัยธรรมชาติ แต่พบการกระจายพันธุ์เพียงแหล่งเดียวทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการลดจำนวนจากแหล่งธรรมชาติได้ ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situ conservation) ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคตต่อไป
ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ เปิดเผยว่า ได้พบกระเจียวสรรพสีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยทำการเก็บตัวอย่าง ปลูกเลี้ยงจนออกดอกและทำการเก็บข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ รวมถึงได้ตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) ในพิพิธภัณฑ์พืชต่าง ๆ จนแน่ใจว่าเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน เนื่องจากกระเจียวสรรพสีจัดอยู่ในวงศ์ย่อย Curcuma (Subgenus Curcuma) ซึ่งมีความซับซ้อนทางอนุกรมวิธาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ทราบให้มั่นใจว่า เป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกอย่างแท้จริง
การค้นพบนี้ได้รับการยืนยันและตีพิมพ์ในวารสาร Annales Botanici Fennici โดยทีมวิจัยร่วมมือกับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานระดับโลกจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ ดร.ศุทธิณัฏฐ์ได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ในห้องปฏิบัติการ
เอกสารอ้างอิง
Soonthotnkalump S. (2024). Curcuma diversicolor (Zingiberaceae), a New Species
from Northern Thailand, and Notes on C. sirirugsae. Annales Botanici Fennici,
61(1), 263-270. https://doi:10.5735/085.061.0136