EASYRICE บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้ AI ลดความผิดพลาดในการตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว แล้วยังมองไปถึงโจทย์ใหญ่ นั่นคือการรับมือกับภาวะอากาศแปรปรวน ที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่งผลให้ข้าวมีคุณภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทางออกคือต้องมีชุดข้อมูลที่หลากหลาย แม่นยำ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาร่วมกัน และจะต้องให้ครอบคลุมทุกองคาพยพของภาครัฐและเอกชน
ณ ปัจจุบัน หัวใจของการพัฒนาคือข้อมูล ยิ่งข้อมูลเที่ยงตรงแม่นยำมากเท่าไหร่ ย่อมมีโอกาสพัฒนาอย่างก้าวกระโดดยิ่งขึ้นเท่านั้น เช่นกันกับอุตสาหกรรมข้าวที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของวงการอาหาร ซึ่งต้องการชุดข้อมูลที่หลากหลาย แม่นยำ และตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่คนในวงการข้าวเผชิญมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่ากระบวนการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก หรือการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกให้มีความเที่ยงตรง 100 เปอร์เซ็นต์ และเทคโนโลยีทางการเกษตรและชุดข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็นับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ความสำคัญของเทคโนโลยีและข้อมูล คือ แก่นการทำงานของ EASYRICE บริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตร ภายใต้การกำกับของหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ภูวินทร์ คงสวัสดิ์ วิศวกรผู้สวมหมวกอีกหลายใบในฐานะนักธุรกิจและนักพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว โดยเขายืนยันเต็มเสียงว่า การจะพัฒนาภาคเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่มจากตั้งต้นให้ถูก ด้วยการใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบได้ เป็นต้นทุนในการพัฒนา
“จากปี 2017 ที่ตัดสินใจว่าจะเข้ามาทำงานเรื่องข้าว เรามองเห็นแล้วว่าวงการนี้มีกำแพงอยู่หลายชั้น” เขาเกริ่น
“โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกและตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวให้เที่ยงตรง ส่วนมากยังอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ซึ่งการใช้คนไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เมื่อประเทศไทยตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบการผลิตในระดับอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็น”
เขาไล่เลียงเหตุผลเบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว กระทั่งในปี 2019 จึงได้ผลลัพธ์เป็นซอฟท์แวร์ EASYRICE MP สำหรับตรวจสายพันธุ์ข้าว และ EASYRICE M0 สำหรับตรวจคุณภาพข้าว โดยมีจุดเด่นตรงใช้งานง่ายและให้ผลลัพธ์แม่นยำ
“แน่นอนว่า การตรวจสอบคุณภาพข้าวนั้นสำคัญ อย่างค่าความชื้นของข้าวเปลือก กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้เลยว่าต้องตรงตามนี้ ไม่อย่างนั้นไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ แต่คำถามต่อมาคือ แล้วการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวสำคัญอย่างไร คำตอบก็คือ การจะส่งออกข้าวคุณภาพระดับพรีเมียมไปในตลาดโลกนั้น การเจือปนสายพันธุ์ข้าวถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก” เขาย้ำ
“เคยเกิดกรณีประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปหลายสิบตัน แต่ประเทศปลายทางตรวจสอบว่ามีข้าวสายพันธุ์อื่นปลอมปนมาด้วย เขาอาจหักราคาหรือตีกลับได้เลย ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผู้ส่งออกและเกษตรกร ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ”
ภูวินทร์เสริมด้วยว่า เรื่องการตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าวนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศผู้ส่งออกข้าวทั่วโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ปัจจุบันอินเดียหรือเวียดนามต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ทั้งนี้ ระบบการทำงานของ EASYRICE นั้นง่ายตรงตามชื่อ กล่าวคือ เมื่อได้ข้าวเปลือกมาแล้ว ผู้ตรวจสอบสุ่มตัวอย่างข้าวเปลือกประมาณ 200 กรัม นำมาเข้าเครื่อง EASYRICE ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องสแกนเอกสาร จากนั้นซอฟท์แวร์จะตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าวว่ามีสายพันธุ์ข้าวอื่น ๆ เจือปนมาหรือไม่ ก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นตัวเลขทางสถิติภายในเวลาไม่นาน
“เราตั้งใจทำให้เป็นเทคโนโลยีที่เข้าใจง่าย เพราะยิ่งกระจายไปสู่เกษตรกรหรือคนทำงานต้นน้ำ อย่างโรงสี หรือผู้รับซื้อข้าวเปลือกมากเท่าไหร่ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ยิ่งลดลง” เขาขยายความปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ว่า คือความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกันระหว่างเกษตรกรและพ่อค้าคนกลาง
“หลายครั้งโรงสีบอกว่า ชาวนาผลิตข้าวไม่ได้คุณภาพ จึงจ่ายแพงไม่ได้ ส่วนชาวนาเองก็มองว่าโรงสีมีอคติและกดราคา แต่การถกเถียงตรงนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของตัวเลขหรือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการถกเถียงที่ไม่จบสิ้น แต่เทคโนโลยีตรวจสอบได้ชัดเจนว่า สิ่งที่คุณอ้างนั้นจริงหรือไม่จริง ที่สำคัญคือข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เรารู้ได้ว่าต้องพัฒนาปรับปรุงตรงไหน เพื่อทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันหมด” เขายกตัวอย่างประสบการณ์ให้เราเห็นภาพตรงกัน
นอกจากแง่มุมของการตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว ปัจจุบันภูวินทร์และทีมงานยังมองไปยังโจทย์ข้อใหญ่ของวงการข้าวทั่วโลก นั่นคือการรับมือกับสภาวะอากาศแปรปรวน ที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมถึงส่งผลให้ข้าวมีคุณภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ต้องยอมรับว่าสภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทางหนึ่งในการรับมือคือเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีและความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ ถึงจะได้ผลลัพธ์ทันต่อการเปลี่ยนแปลง” เขาเสริม
“ปัจจุบันมีข้อมูลสายพันธุ์ข้าวถูกส่งผ่านระบบ EASYRICE ประมาณ 5 แสนครั้งต่อปี ส่วนนี้ใช้เป็นฐานวิเคราะห์ได้เหมือนกันว่า จังหวัดไหนมีข้าวพันธุ์อะไรปลูกอยู่บ้าง แต่ละสายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างไร ข้อมูลตรงนี้จะทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น” ภูวินทร์ขยายความ ก่อนจะย้ำถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือนโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและสายพันธุ์ข้าวจากส่วนกลาง
“ตอนนี้ EASYRICE ทำงานกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ๆ ทั้งในอินเดียและเวียดนาม ซึ่งทำให้เราเห็นข้อแตกต่างเลยว่าการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของบ้านเขากับบ้านเราต่างกันมาก ตัวอย่างชัด ๆ คือศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวบ้านเขารัฐอุดหนุนปีละเป็นหมื่นล้าน ใช้เวลาวิจัยพัฒนาประมาณ 5-6 ปี ก็ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและตลาด แต่บ้านเราอาจต้องใช้เวลาวิจัยพัฒนาถึง 10 ปี เพราะติดเรื่องระบบอะไรหลาย ๆ อย่าง ด้วยอัตราเร่งนี้ก็น่าเป็นห่วงอนาคตของอุตสาหกรรมข้าวไทยอยู่เหมือนกัน” เขายอมรับในจุดอ่อนที่มองเห็น แต่ยังคงมั่นใจว่าวงการข้าวไทยยังเต็มไปด้วยความหวัง
ปัจจุบัน EASYRICE กระจายเครื่องตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าวไปยังกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสี และผู้ส่งออกข้าว รวมแล้วมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมดำเนินความร่วมมือกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ทั้งในเวียดนามและอินเดีย
เรียกว่าในภาคการทำธุรกิจนั้นอนาคตของบริษัทแสนจะสดใส แต่ลึกลงไปกว่านั้น ภูวินทร์กล่าวว่า เขาวาดหวังให้ EASYRICE เติบโตไปบนรากฐานอันมั่นคง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมข้าวไทยจับมือกันพัฒนาทั้งคุณภาพ ตลาด และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน