ส้มจุกจะนะ (Neck orange Chana หรือ Som Jook Chana) หมายถึง ส้มจุกพันธุ์เปลือกหนาและพันธุ์เปลือกบาง มีผิวมันวาว เมื่อสุกมีสีเหลือง หรือสีเขียวอมเหลือง หรือเขียวอมส้ม เปลือกล่อน มีกลิ่นหอมจากต่อมใต้เปลือก เนื้อกุ้งฉ่ำ นุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ลักษณะภูมิประเทศ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ละติจุด 6 องศา 54 ลิปดา 51 ฟิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 44 ลิปดา 26 ฟิลิปดาตะวันออก อยู่ติดกับทะเลอ่าวไทย มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบและที่ดอนใกล้แหล่งน้ำโดยมีแม่น้ำนาทวีและแม่น้ำเทพา ไหลผ่านซึ่งได้พัดพาเอาอินทรียวัตถุมากับตะกอนดินในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ระดับน้ำใต้ดินตื้นและมีลำคลองสายเล็กสายใหญ่ไหลผ่านหลายสาย เนื้อดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ หรือเกิดจากการสลายตัวผุพังของดินเนื้อหยาบ เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 4.5- 5.5 กลุ่มดินชุดนี้จึงมีศักยภาพในการปลูกส้มจุกจะนะเนื่องจากรากของพืชตระกูลส้มสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย เมื่อถึงฤดูแล้งดินกลุ่มนี้จะกักเก็บน้ำใต้ดินไม่ดี ทำให้ต้นส้มขาดน้ำ จึงกระตุ้นให้เกิดการสะสมอาหาร เมื่อถึงฤดูฝนได้รับน้ำ ต้นส้มจะแตกยอดอ่อนพร้อมกับตาดอกให้ผลผลิตส้มตามธรรมชาติ
ลักษณะภูมิอากาศ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26 องศาเซลเชียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีมากกว่า 2,200 มิลลิเมตร มีความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะของภูมิประเทศที่ติดทะเลอ่าวไทย ทำให้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดมาจากอ่าวไทย และเป็นเขตเงาฝนของทะเลอันดามัน จึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงได้ ฝนตกชุกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม และด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ติดทะเลทำให้ได้รับไอน้ำเค็ม ซึ่งลมพัดมากับอากาศตลอดทั้งปี โดยไอเค็มดังกล่าวมีธาตุอาหารรองที่สำคัญคือ แคลเซียม และธาตุอาหารเสริมคือ โซเดียม และคลอรีน สำหรับแคลเซียมเป็นธาตุอาหารที่สำคัญทำหน้าที่ขนส่งและลำเลียงธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของส้มจุกจะนะ ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์และแข็งแรงให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกประการหนึ่ง แคลเซียมยังทำหน้าที่ขนส่งโพแทสเซียม ไปยังลำต้นเพื่อผลิตกรดอินทรีย์และน้ำตาลในผลส้ม ทำให้ ส้มจุกจะนะมีรสหวามอมเปรี้ยวกลมกล่อม และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีในส้มเปลือกล่อนชนิดอื่น
ประวัติความเป็นมา
ส้มจุกจะนะ เป็นส้มเปลือกล่อนชนิดเดียวที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แหล่งที่มาไม่ได้มีระบุแน่ชัด ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งสมัยเจ้าเมืองจะนะ พระมหานุภาพปราบสงคราม (ขวัญจะ) ปี พ.ศ. 2358 -2380 ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงเพื่อสัมพันธภาพระหว่างเจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเชียรศรี (เถี่ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ 4 กับเจ้าเมืองมาลายู (ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู) หลังจากรับประทานอาหารคาวหวานหมดลงก็ตามมาด้วยผลไม้ และหนึ่งในนั้นมีส้มชนิดหนึ่งมีผลสีเขียว ขั้วผลมีจุกยื่นออกมา เปลือกล่อน แกะง่าย ไส้กลวง เนื้อสีเหลืองนวลคล้ายน้ำผึ้ง รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ และมีกลิ่นไม่เหมือนส้มทั่วไปจึงเก็บเมล็ดไว้และได้นำเมล็ดให้ผู้รับใช้ (บิดาของหะยีหรน ราษฎรตำบลแค) นำกลับไปเพาะจนขยายพันธุ์แพร่หลายในเวลาต่อมา
ในช่วงปี พ.ศ. 2400-2490 ส้มจุกจะนะได้รับความนิยมและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีเกษตรตรกรปลูกส้มจุกเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทางอำเภอจะนะ มีการจัดตั้งตลาดกลางเพื่อเป็นแหล่งรองรับการซื้อขายส้มจุกและเป็นแหล่งนัดพบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟจะนะเพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงผู้ที่เดินทางผ่านเส้นทางสายดังกล่าวนิยมจะซื้อไปเป็นของฝาก ตลอดจนนำไปใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น วันสารทเดือนสิบ เป็นเครื่องไหว้หน้าโต๊ะบูชาของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น การจำหน่ายและการบรรจุจะมี 2 ลักษณะคือ การใส่ชะลอมไม้ไผ่ และการขายเป็นพวงร้อยตรงบริเวณจุก ส่วนการขนส่งด้วยรถไฟนิยมใส่เข่งไม้ไผ่ที่มีการระบายอากาศได้ดี จึงทำให้ส้มจุกจะนะเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
และในปี พ.ศ. 2492 อำเภอจะนะ ได้จัดงานมหกรรมทางการเกษตรและของดีเมืองจะนะ มีการประกวดผลผลิตส้มจุกจะนะที่มีคุณภาพ มีเกษตรกรส่งผลผลิตเข้าประกวดจำนวนมาก ทำให้ ส้มจุกจะนะ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นคำขวัญของอำเภอจะนะ คือ นกเขาเงินล้าน หอมหวานส้มจุก แดนมรดกสองวัฒนธรรม
ต่อมา ส้มจุกจะนะ ประสบปัญหาผลผลิตลดลง โรคและแมลงมีมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนที่ส้มจุก เช่น ยางพารา ลองกอง มังคุด และทุเรียน เป็นต้น ทำให้พื้นที่ปลูกส้มจุกลดลงเรื่อย ๆ จนเมื่อปี พ.ศ. 2554 อำเภอจะนะได้ส่งเสริมและฟื้นฟูการปลูกส้มจุก โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนต้นพันธุ์สายพันธุ์ดั้งเดิมให้เกษตรกรปลูกและจัดประกวดผลผลิตส้มจุกจะนะในงานของดีเมืองจะนะ เพื่อฟื้นฟูและประชาสัมพันธ์ให้ ส้มจุกจะนะ กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน อำเภอจะนะ ได้กำหนดให้ส้มจุกจะนะเป็นผลผลิตหลักในการประกวดผลผลิตทางการเกษตรในงานประจำปีของดีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยแต่ละปีจะมีเกษตรกรส่งผลผลิตเข้าประกวดจำนวนมาก