ประเทศไทยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตของการเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 (เดือนธันวาคม-พฤษภาคม) ที่มีค่าสูงเกินมาตรฐานบ่อยครั้ง และเป็นปัญหาในหลายจังหวัด หนึ่งในต้นเหตุหลักคือ การเผาไหม้ชีวมวล (Biomass burning) เช่น การเผาวัสดุทางการเกษตร และการลักลอบเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อย
ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่า ในฤดูการผลิตปี 2566/2567 มีปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลอยู่ที่ 82.17 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นอ้อยสดจำนวน 57.81 ล้านตัน (คิดเป็น 70.36%) และอ้อยไฟไหม้จำนวน 24.35 ล้านตัน (คิดเป็น 29.64%) เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2565/2566 ที่มีปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล 93.89 ล้านตัน แบ่งเป็นอ้อยสดจำนวน 63.63 ล้านตัน (คิดเป็น 67.78%) และอ้อยไฟไหม้จำนวน 30.78 ล้านตัน (คิดเป็น 32.78%) จะเห็นได้ว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี คิดเป็นลดลง 3.14% จากปีการผลิตก่อนหน้า เป็นผลมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับในการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้รถตัดอ้อย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับในการขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการลักลอบเผาอ้อย วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการ สอน.ได้วางแผนที่จะนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมเข้ามาใช้ในการติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย โดยนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งเตือนการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อย รวมถึงการวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกอ้อย และการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบในพื้นที่ต้นแบบระดับจังหวัด เพื่อขยายผลนำไปใช้งานทั่วประเทศได้ต่อไป
ช่วงต้นปีคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย เลขาฯ วิฤทธิ์ ได้ประชุมรับฟังการนำเสนอเทคโนโลยีระบบดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะแนวทางการตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ในไร่อ้อย จากดาวเทียมสำรวจของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยเทคโนโลยีระบบดาวเทียมสามารถประเมินภาวะ PM2.5 ได้โดยการวัดค่าการส่งผ่านรังสีของดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหมอกและฝุ่นละอองแล้วนำมาแปลงเป็นค่า PM2.5 และยังสามารถติดตามจุดความร้อนและรอยเผาไหม้ หรือที่เรียกว่า Thermal sensors สำหรับการนี้มีอยู่ด้วยกัน 26 ดวง ที่มีขีดความสามารถในการตรวจจับและวิเคราะห์ร่องรอยการเผาไหม้ พร้อมภาพความเปลี่ยนแปลงจากการเผาไหม้ในแปลงอ้อย หรือพื้นที่เกษตรอื่น ๆ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ และสามารถระบุพื้นที่ได้ละเอียดถึงระดับรายแปลง จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งการติดตามประมวลผลรายงานค่า PM2.5 ระบุได้แม่นยำในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงสามารถคำนวณขนาดพื้นที่เผาไหม้กี่ไร่ และจะแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบจุดความร้อนในพื้นที่ได้ด้วย
โดยการตรวจสอบการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อย เลขาฯ วิฤทธิ์ ระบุว่า จะใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ 2 รูปแบบ
1. ข้อมูลจากดาวเทียมตรวจจับความร้อน (Thermal data) เพื่อวิเคราะห์จุดความร้อน (Hotspots)
2. ข้อมูลจากดาวเทียมภาพถ่ายมัลติสเปกตรัม (Multispectral imagery) เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นดัชนีระบุพื้นที่เผาไหม้ (Burn area index) หรือแสดงรอยเผาไหม้ (Burn scar)
สาเหตุที่นำข้อมูล 2 รูปแบบมาใช้ร่วมกัน เนื่องจาก หากพื้นที่ที่มีการเผาอ้อยแล้วดาวเทียมไม่ได้โคจรผ่านพื้นที่ตรงนั้น ณ เวลานั้น จะไม่มีข้อมูลปรากฏบนดาวเทียมว่าพื้นที่นั้นเกิดความร้อน (มีการเผาอ้อย)
สอน.จึงได้นำภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมที่แสดงรอยเผาไหม้ของพื้นที่นั้นเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เพื่อระบุพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเผา เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย/มาตรการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สอน.ได้มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาในไร่อ้อยอย่างยั่งยืนไว้ 3 ด้าน
1. ด้านข้อมูล
⦁ แสดงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทย และรายจังหวัด อำเภอ ตำบล
⦁ แสดงข้อมูลตำแหน่งการเกิดจุดความร้อน (Hotspots) และรอยเผาไหม้ (Burnt areas) ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย (รายจังหวัด อำเภอ ตำบล และรายแปลง)
⦁ แสดงข้อมูล PM2.5 ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย (รายตำบล)
⦁ แสดงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานการณ์ภัยพิบัติ และข้อมูลแปลงปลูกอ้อย2. ด้านการวางแผนโดยใช้ AI เข้ามาช่วย
⦁ สร้างแบบจำลอง และประมวลผลข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา
⦁ แสดงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ที่มีประวัติการเผาย้อนหลัง 3 ปี
⦁ แสดงแผนที่ความเสี่ยงต่อการเผา ในแต่ละพื้นที่
⦁ เชื่อมโยงข้อมูลโดยตรงกับโรงงานน้ำตาล และเกษตรกร
⦁ พัฒนาข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น การคาดการณ์ผลผลิต
3. ด้านระบบ
⦁ ค้นหาข้อมูลรายพื้นที่ : รายแปลง รายเขตการปกครอง (จังหวัด อำเภอ ตำบล)
⦁ ข้อมูลอัพเดตอย่างต่อเนื่องและใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน
⦁ ระบบแจ้งเตือนพื้นที่เผา และจุดความร้อนต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
⦁ รองรับการเชื่อมต่อ API และฐานข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร โรงงานน้ำตาล และอื่นๆ
รวมทั้งนำข้อมูลทั้ง 3 ด้าน มาใช้เชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ
เชิงนโยบาย
⦁ เพื่อวางแผน บริหารจัดการ กำหนดนโยบายต่าง ๆ
⦁ ระบุพื้นที่เป้าหมายเพื่อวางมาตรการป้องกันการเผา และการเกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ปลูกอ้อย
⦁ ระบุพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการเผา และเงื่อนไขการสนับสนุน (โดยอิงจากประวัติความร่วมมือในการงดเผาอ้อย)
⦁ ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร และให้คำแนะนำเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล
เชิงปฏิบัติ
⦁ การแจ้งเตือนจุดเกิดไฟแก่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครเกษตรกร และเกษตรกรเจ้าของพื้นที่เกิดไฟ เพื่อการป้องปรามและระงับเหตุ
⦁ การระบุพื้นที่และเกษตรกรเป้าหมาย เพื่อเข้าร่วมโครงการและกิจกรรม เช่น ส่งเสริมการตัดอ้อยสด และไม่เผาเศษวัสดุทางการเกษตร สำหรับพื้นที่เสี่ยงแต่ละระดับ
นสพ.มติชน วันที่ 13 ก.ย.67