ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
17 กรกฎาคม 2567
เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน ได้เนื้อคุณภาพดี แปรรูปเป็นแบรนด์ “Do Beef” สร้างมูลค่าหลักแสน

คุณภู-ภูชิต มิ่งขวัญ เจ้าของวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ ที่มองเห็นปัญหา “เปลือกทุเรียน” ที่มีเยอะมาก จึงเกิดไอเดียทำเป็นอาหารให้วัวกิน และยังมีการเลี้ยงดูที่ดี ทำให้ช่วงชีวิตของวัวมีความสุข ส่งผลให้เนื้อมีคุณภาพดี

จุดเริ่มต้นของ Do Beef คุณภูเรียนจบบัญชี จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ และมีพี่ชายที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ มีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ต้องการที่จะนำจุลินทรีย์มาเป็นตัวช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เขาเห็น คือเปลือกทุเรียนจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งไร้ค่าหลังการบริโภค

ในขณะนั้นมีวิธีจัดการเปลือกทุเรียนหลัก ๆ 2 ทางคือ นำไปทำปุ๋ย และการฝังกลบ ซึ่ง 2 วิธีนี้ ล้วนมีข้อจำกัด เช่น ปุ๋ยใช้เวลานานในการย่อยสลาย ฝังกลบก็สิ้นเปลืองพื้นที่และงบประมาณ แต่กับวัว กินไปแค่คืนเดียว ก็ขับถ่ายออกมาเป็นมูลโคเรียบร้อยแล้ว เขาจึงมองเห็นโอกาสที่จะนำ “เปลือกทุเรียน” มาเป็นอาหารวัว ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ไม่มีใครเชื่อว่าเปลือกทุเรียนจะสามารถนำมาเป็นอาหารได้ แต่เขาก็เริ่มศึกษาและทดลอง โดยนำเปลือกทุเรียนไปตรวจหาว่าเหมาะสมกับการกินไหม ศึกษาในเรื่องของสารเคมีต่างๆ จากนั้นนำจุลินทรีย์เข้ามาผนวก เกิดเป็น “เปลือกทุเรียนหมัก จากจุลินทรีย์โพรไบโอติก” ซึ่งคัดมาโดยเฉพาะให้เหมาะกับการกินของวัว ส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์กระเพาะเดี่ยว หรือ สัตว์กระเพาะหมัก

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดงานวิจัย จึงเกิดเป็น “วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ” ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังมีภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน เข้ามาช่วยผลักดันนวัตกรรมนี้ด้วย ซึ่ง ‘ภาคการศึกษา’ จะเป็นการทำให้จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เรียกว่า “นวัตกรรมพลาสม่าพลังงานต่ำ” ที่ไม่ได้เป็นการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMO จึงทำให้มีความปลอดภัยมาก

ต่อมาเป็น ‘หน่วยงานภาครัฐ’ ที่จะผลักดันในเรื่องมาตรฐาน GIP (Good Importing Practices) ที่เป็นเครื่องหมายการันตีถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เข้าสู่ปีที่ 4 แล้วที่ทำเป็นฟาร์ม GIP

ในส่วนของ ‘ชุมชน’ การหาวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกทุเรียนที่เหลือจากการบริโภคในจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหลือทิ้งหรือต้องมีการกำจัด เช่น ยอดอ้อย และยอดมันสำปะหลัง ข้อดีอีกอย่างคือ ลดการเผา และลดฝุ่น PM2.5 อีกด้วย

เมื่อครบทุกองค์ประกอบแล้ว ก็มาสู่การเลี้ยงวัว ที่นี่มีแม่พันธุ์เกือบทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์กำแพงแสน พันธุ์ตาก พันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์ หรือ ลูกผสมพันธุ์ยุโรป เพื่อนำมาทดลองการเลี้ยงด้วยเปลือกทุเรียน 100% ปรากฏว่า ได้ผลตอบรับดี สามารถมีลูกให้ได้ คุณภาพการเจริญเติบโตดี ไม่เจ็บป่วย

มากกว่าแค่ฟาร์มวัว “คำว่า Do หมายถึง การดูแลเอาใจใส่เขาอย่างดี ดูแลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของเขา รวมถึงการเป็นอยู่ของเขาด้วย” จุดเด่นของ Do Beef เกิดจากความตั้งใจอยากจะทำสิ่งหนึ่ง เพื่อพัฒนาชุมชน พัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้สามารถเป็นองค์ธุรกิจที่ครบวงจร

“โดยปกติวัวที่อื่นจะเป็นวัวขุน มีการเลี้ยงยืนโรงบ้าง มีการผูกมัดรัดไว้ มีการทำให้เขาได้ผลผลิตที่ดี โดยไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ฟาร์มเราไม่ใช่อย่างนั้น”


“ในช่วงเวลาที่เขาเติบโตขึ้นที่นี่ เราก็หวังให้เขามีความสุขที่สุด อยู่สบายที่สุด ได้รับแสงแดด ได้เดิน ได้วิ่ง แต่สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เสียเปล่ากับตัวเขาเลย ด้วยความที่เขาเป็นเนื้อแล้ว ความสุขของโคที่เขามีตลอดในช่วงชีวิตของเขา มันส่งผลต่อคุณภาพเนื้อที่ออกมาด้วย”
“Do Beef ไม่ใช่ Grass Fed หรือ Grain Fed แต่ Do Beef คือ Happiness Fed คือวัวที่มีความสุขในชีวิตของเขา” เรามองว่าอย่างนั้น

ใส่ใจทุกขั้นตอน โดยที่ฟาร์มจะมีการตื่นเช้ามาทำอาหารหมักให้วัว เป็นอาหารที่ตั้งใจทำ ตั้งใจหา ตั้งใจเก็บ ศึกษาและวิเคราะห์อย่างดี เพื่อให้เป็นอาหาร รวมถึงมีทีมสัตวแพทย์ดูแลให้วัวเติบโตได้อย่างดีด้วยความที่มีพื้นที่อยู่ 7 ไร่ ใช้อยู่อาศัย 2 ไร่ และอีก 5 ไร่ เป็นฟาร์มวัว โดยเขาจะเลี้ยงวัวไม่เกิน 50 ตัว ไม่เลี้ยงอย่างแออัด มีพื้นที่ให้เขาได้วิ่ง โดยจะมีคิว เช่น วันนี้วันดีออกนะ มีโชคออกนะ ที่ฟาร์มจะมีชื่อทุกตัว แต่ละตัวจะมีคิวออกมาวิ่ง ได้เจอแสงแดด อย่างน้อยวัวก็จะได้ Relax ในพื้นที่ของเขา

ส่วนเรื่องของความสะอาดในฟาร์ม วัวที่นี่จะไม่จมกองฉี่เลย เพราะจะมีการเก็บมูลโคทุกวัน เพื่อต้องการลดแมลงพาหะ และต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนด้วย ระยะเวลาในการเลี้ยงวัว 1 ตัว ใช้เวลาประมาณ 3 ปี 4 เดือน จะค่อย ๆ เจริญเติบโต ค่อย ๆ สร้างไขมันแทรก ซึ่งจะแตกต่างกับวัวขุนทั่วไป ที่ใช้เวลาเพียง 7-8 เดือนก็สามารถส่งต่อได้แล้ว “วัวเราใช้ความคุ้นเคย ความเข้าใจ มีทางบังคับให้สามารถเดินไปกลับได้เอง คือเขารู้ว่าที่ของเขาคือที่ไหน เวลากลับคือเวลาไหน เขารู้ของเขาเอง”

เนื้อวัวคุณภาพ เข้าถึงง่าย ลงทุนครั้งแรก ประมาณเกือบ 5 ล้านบาท เพราะมีการนำแม่พันธุ์ทุกสายพันธุ์มา ซึ่งราคาแม่พันธุ์ ตัวละ 60,000-70,000 บาท รวมทั้งสร้างโรงเรือน หลังคา พื้นคอนกรีต รั้ว โรงผลิตอาหาร โรงบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อ และห้องพักคนงาน วัวตัวหนึ่งจะขายได้ประมาณ 180,000 บาท แต่ถ้าขายตัวเป็นๆ จะอยู่ประมาณ 60,000-70,000 บาท ปัจจุบันมีการวางขายที่ ‘Tops นครสวรรค์’ เป็นส่วนพรีเมียม สันแหลม สันคอ เป็นต้น

อีกทั้งทางแบรนด์มีเมนู “กะเพราเนื้อไทยวากิว” ขายในราคาจานละ 55 บาท เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย ใครๆ ก็สามารถมาทานได้ และมีการแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ เช่น ‘ไส้อั่ว’ ซึ่งเหมือนเป็นการระบายไขมันวัว รวมถึงตัวกากมันเจียว ก็แปรรูปเป็น ‘น้ำพริกกากวัว’ ในส่วนของเนื้อแดง สามารถนำไปตุ๋น ทำเป็น เนื้อย่าง สเต๊ก กะหรี่ปั๊บ เป็นต้น ปกติเนื้อวัวส่วนสันใน ที่ขายบน Tops นครสวรรค์ ได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท รวมๆ แล้ว 1 เดือนประมาณเกือบแสน และรายได้จากร้านอาหารประมาณ 3 แสนกว่าบาท

อุปสรรคและการดูแลวัวจนวาระสุดท้าย ถ้าปัญหาที่หนักมากที่พบเจอ นั่นคือ โรคระบาดที่ชื่อว่า “ลัมปีสกิน” ลักษณะเป็นตุ่มตามผิวหนังวัว ซึ่งเขาบอกว่าช่วงนั้นกำลังจะออกแบรนด์ Do Beef พอดี แต่แล้วทางฟาร์มก็สามารถจัดการได้ โดยการใช้มุ้งป้องกันแมลงพาหะต่างๆ ช่วงปลายของชีวิตวัวทุกตัว จะมีการดูแลดีมาก เขาจะไปดูถึงโรงเชือดเองเลย ซึ่งจะมีการเชือดแบบฮาลาล อีกทั้งต้องดูว่ากระบวนการที่เขาทำมีความเชี่ยวชาญแค่ไหน

“เรามองว่าสิ่งที่เขาจะจากไปจริงๆ แล้ว เขาต้องได้รับสิ่งที่เขาสบายที่สุด ไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงดี แล้วเนื้อจะดี บางคนคิดว่าเลี้ยงมาอ้วนท้วมสมบูรณ์แล้วคุณภาพเนื้อปลายทางจะดี มันไม่ใช่แบบนั้น”

วัวเป็นสัตว์ใหญ่ ถ้าเกิดการเครียดระหว่างที่ถูกเชือด เนื้อจะซีด ช้ำเป็นจุดๆ และแข็งกระด้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เลย เขาบอกว่า วัวของที่ฟาร์ม จะต้องมีการขึ้นรถก่อน 1 วันในช่วงกลางคืน มีน้ำมีอาหารให้กิน คุมสแลนทั้งหมด สำคัญมากคือจะขึ้นแค่ 1 ตัว และไปกับคนที่เลี้ยง ซึ่งอาจจะดูโหดร้ายกับคนเลี้ยง แต่ว่าเป็นคนที่เข้าใจวัวมากสุด จะได้ไม่เครียด ที่สำคัญเมื่อไปถึงโรงเชือด วัวจะต้องได้พัก 1 วัน และต้องได้เชือดเป็นคิวแรก เพราะถ้าต่อคิว จะทำให้รู้สึกเครียดระหว่างนั้นได้

ฝากถึงผู้ประกอบการ “คุณต้องรักทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าคุณเลี้ยงวัวแล้วคุณจะรักแค่เงิน แต่ต้องรักเพื่อนบ้าน รักทุกอย่าง จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน อย่ามองเพียงแค่ว่าอยากทำ แต่มีความตั้งใจไม่พอ เพราะเกษตรกรไม่มองหาตลาด จะทำอะไรต้องมองหาตลาดก่อน ซึ่งบางทีจะขายอะไร อย่าเอาใจเราตั้ง ต้องเอาความตั้งใจของลูกค้าเป็นหลัก”

ช่องทางการติดต่อ เฟซบุ๊ก : วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ, Do BEEF เนื้อโคไทยวากิว ปากน้ำโพ

 


แหล่งที่มา

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_284213
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู