ข่าวสาร
E20 การบริหาร/ธุรกิจเกษตร
16 กรกฎาคม 2567
“ทำเกษตรยังไง ให้มีรายได้” อดีตหนุ่มวิศวะ พลิกโฉมพื้นที่ 2 ไร่ ทำเกษตรยุคใหม่ คิดอย่างนักธุรกิจ

หนุ่มวิศวะพลิกโฉมพื้นที่ 2 ไร่ของตัวเองด้วยแนวคิด ‘ผู้ประกอบการในการทำเกษตร’ ที่จะสร้างรายได้ยังไงให้คุ้มค่าที่สุด คุณพันธ์-คำพันธ์ แก้วมา เจ้าของสองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม จุดเริ่มต้นมาจากอยากมีธุรกิจที่เป็นของตัวเอง คุณพันธ์มีความคิดแรกเริ่มว่ามีที่ดินเป็นต้นทุนพื้นฐาน แต่จะทำอย่างไรให้ก่อเกิดรายได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่กลับไปพัฒนาที่ดินและผันตัวมาทำเกษตรตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีการจัดสรรพื้นที่แบ่งเป็น 4 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่งเป็นบ่อกักเก็บน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ 30 เปอร์เซ็นต์ และที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งพื้นที่

คุณพันธ์เล่าว่า “ผมมองตัวผมเป็นผู้ประกอบการ โดยนำแนวคิดผู้ประกอบการมาใช้ ผมไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่อาชีพที่ทำอิงมาจากเกษตรกร โดยผมคิดเหมือนคนญี่ปุ่นเวลาที่ทำเกษตร ปลูกอะไรขาย ทำแบรนด์ชื่ออะไร เขามองว่าอาชีพเกษตรคืออาชีพที่มีคุณค่า จึงนำแนวคิดนี้เริ่มทำตั้งแต่วันแรก และที่มาของชื่อมาจากการที่เรามีชีวิตที่สโลว์ไลฟ์ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี และมองกลับมาว่าจะสโลว์ไลฟ์ที่ไหน ก็ที่ดิน 2 ไร่ของเรา เป็นที่ดินที่ทำให้คนรู้จักเรานั่นเอง” ซึ่งการตั้งชื่อก็เป็นสิ่งสำคัญที่ดึงคนเข้ามาหาเราได้

หลังจากนั้น คุณพันธ์ก็เริ่มศึกษาเกษตรอย่างจริงจัง กลับมาพัฒนาพื้นที่ 2 ไร่ ช่วงที่พัฒนายังทำงานประจำควบคู่กับการทำเกษตร คุณพันธ์เล่าให้ฟังว่า “มีแนวคิดอยากจะทำบ้านสวนที่สร้างรายได้อย่างน้อย ๆ วันละ 500 บาท ถ้าซื้อที่ดินสร้างบ้านเล็ก ๆ ปลูกผักน่าจะดีกว่า แทนที่จะไปซื้อบ้านจัดสรรอาจจะไม่ได้สร้างรายได้ให้เรา แต่มูลค่าที่ดินพอ ๆ กัน เริ่มต้นจากปลูกผัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัว ใช้วิธีปลูกแบบยกแปลง ก่อกระบะยกสูง และปล่อยปลาในบ่อ รอโตค่อยจับขาย ตอนนั้นคิดไว้ถ้าทำแล้วสำเร็จเริ่มมีรายได้ในปีที่ 3 จะลาออกจากงานประจำ” กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 3 สามารถมีรายได้จากที่มีผู้คนมาชมฟาร์ม นำผักที่ปลูกในฟาร์มมาขาย และทำเป็นเมนูอาหาร จนสามารถสร้างรายได้จริงจึงลาออกจากงานประจำ

ต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจเกษตร “สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม” มี 2 สาขาด้วยกัน โดยร้านจุดเริ่มต้นอยู่ที่สาขาบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสาขารังสิต-คลองสาม จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ฟาร์มแต่ยังมีพิซซ่าเตาดิน ที่วัตถุดิบส่งตรงจากสวน ซอสพิซซ่าที่มาจากมะเขือเทศที่ปลูกเอง จากวันนั้นจนวันนี้ที่พัฒนาเป็น “Business model”  ที่มาจากมีผู้คนให้ความสนใจเข้ามาดูรูปแบบฟาร์มของเรา และคนที่มาดูงานก็แนะนำให้ทำเครื่องดื่ม เมนูอาหาร จึงทำให้เรามีร้านอาหาร คาเฟ่ จนเป็นรายได้ของฟาร์มขึ้นมา แต่ก็มีคนมาแนะนำทำที่พักด้วยดีไหม เนื่องจากคนที่มาดูฟาร์มบางคนมาไกล จึงกลายเป็นไอเดียในการทำฟาร์มสเตย์ ก็ถือเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทาง จึงกลายเป็น Business model ของฟาร์มเรา นอกจากนี้คุณพันธ์ยังเป็น Consult, Training ให้ที่อื่น ๆ อีกด้วย

การทำสวนของคุณพันธ์เป็นการนำหลักการของวิศวกรมาปรับใช้ในการเกษตรอย่างคุ้มค่า การทำเกษตรเหมือนเป็นการรวมทุก ๆ อาชีพอยู่ด้วยกัน ขึ้นว่านำมาใช้มากหรือใช้น้อย บัญชีก็ต้องรู้ทำเรื่องรายรับรายจ่าย ศิลปะก็ต้องรู้เรื่องของการดีไซน์พื้นที่ และวิศวะก็ต้องรู้ซึ่งมันตรงกับสายอาชีพเดิมที่คุณพันธ์ได้ความรู้ติดตัวนำมาปรับใช้ร่วมกับการทำเกษตร โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุน ลดค่าแรง แต่สิ่งสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะการทำเกษตรของเราด้วย

การทำการตลาดถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องมีการวางแผนก่อนล่วงหน้า ซึ่งเกษตรกรหลาย ๆ คนมักจะตายตรงที่มีสินค้าที่ดีมาก ๆ อยู่ในมือ แต่จบที่ไม่รู้จะขายใคร ซึ่งคุณพันธ์ได้แนะนำเรื่องของการตลาดว่า “สมมติว่าปลูกผักหวาน สิ่งแรกที่คุณต้องมองให้ออกตั้งแต่วันแรกเลยคือ คุณจะสร้างรายได้จากผักหวานยังไงที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อันนี้เรียกว่าการทำมาร์เก็ตติ้ง” โดยคุณพันธ์มีหลักการทำการตลาดแบ่งออกเป็น 2 วิธี ดังนี้
แบบที่ 1 การตลาดแบบดึงคนเข้า หมายถึงการที่ทำฟาร์มเป็นร้านอาหาร เป็นสวนเพื่อให้คนมาท่องเที่ยว ดึงคนเข้ามาก่อนเดี๋ยวผลิตภัณฑ์ก็ขายได้เอง เป็นการดึงคนเข้ามาโดยไม่ต้องเอาของไปขาย
แบบที่ 2 การตลาดแบบเอาของออก หมายถึงแบบไม่มีหน้าร้าน อาจจะต้องพัฒนาแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ให้ดึงดูด ยิ่งแปลกคนยิ่งให้ความสนใจ โดยที่คุณต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้านั้น ๆ ให้ต่างจากคนอื่นถึงจะขายได้

เริ่มแรกคุณพันธ์ได้ทดลองทำการตลาดทั้ง 2 แบบ แต่ผลปรากฏว่าการทำการตลาดแบบที่ 2 ทำให้รู้สึกเหนื่อย ด้วยความที่ฟาร์มไม่ได้ใหญ่ การที่เอาของออกไปขาย ถ้าออร์เดอร์เยอะก็ไม่สามารถผลิตได้ทัน คุณพันธ์จึงเลือกทำการตลาดแบบที่ 1 ถือว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถนำสินค้าในสวนมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งวัตถุดิบมาจากของในฟาร์มที่ปลูกเอง สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 

วิเคราะห์ก่อนในทุกวัน นำไปสู่แนวคิดที่ประสบความสำเร็จ นอกจากการทำตลาดแบบนี้แล้ว การสร้างแบรนด์ดิ้ง ถือเป็นการสร้างตัวตนให้ฟาร์มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย คุณพันธ์เล่าให้ฟังถึงการสร้างแบรนด์ดิ่งของสองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์ม “ผมเป็นคนที่ทำอะไรจะวิเคราะห์ก่อนทุกวัน เช่น ในแต่ละวันที่ลูกค้าเข้ามาหาผม เขาคิดอะไร หรือต้องการอะไร เนื่องจากเราเข้าใจคนที่สนใจอยากทำเกษตรแล้วตามมาดูเรา เขาไม่ได้อยากรู้หรอกว่าเราสำเร็จยังไง แต่เขาอยากรู้ตอนที่เริ่มต้นเราเจอปัญหาอะไรบ้างมากกว่า” อาชีพเกษตรกว้างมาก ถ้าอยากทำเกษตรให้ยั่งยืน ยกตัวอย่างต้นทางปลูกผัก ต้องมองว่าเราทำเกษตรเพื่อปลายทางอะไร ถ้าปลูกเองขายเองได้หมด ก็สามารถเป็นเกษตรที่ยั่งยืนได้

หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าทำอาชีพเกษตรจะเลี้ยงตัวเราได้ไหม คุณพันธ์เล่าว่า “อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ลงทุนความเสี่ยงต่ำที่สุด หมายความว่าถ้าไปลงทุนอะไรโดยที่ไม่รู้อาจจะอันตราย เกิดความเสี่ยงแน่นอน แต่ถ้าลงทุนกับเกษตร ลงทุนไปกับการปลูกพืชที่สามารถนำมาประกอบอาหารจำหน่ายได้ นำมารับประทานในครอบครัวได้ ถ้าขายไม่ได้อย่างน้อยก็ลดรายจ่ายได้” ดังนั้นการทำเกษตรควรปลูกพืชที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้เราได้ ต่อยอดจากการที่คิดว่าจะทำเกษตรไปไหนทิศทางไหนที่เป็นธุรกิจได้

หากสนใจแนวคิดการทำเกษตรแบบ “สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม” หรืออยากเข้าไปเยี่ยมชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 092-982-5252 หรือเพจ “สองไร่สโลว์ไลฟ์ฟาร์ม”


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_281551
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู