ข่าวสาร
P06 พลังงานทดแทน
15 กรกฎาคม 2567
นักวิจัย มข. นำกากต้นเฉาก๊วยสร้างเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ด เพิ่มคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้โจทย์ปัญหา Zero waste แต่ยังต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่า หรือ  Waste to value ซึ่งเป็นเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ นางสาวฉัตรลดา ไชยวงค์ นักศึกษาปริญญาโท และทีมนักศึกษาปริญญาตรี จึงได้จับมือกับเฉาก๊วยแบรนด์ดังอย่าง “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” นำกากต้นเฉาก๊วยซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ถูกฝังกลบทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ปีละหลายพันตันมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด

“ทีมวิจัยของเรานับเป็นที่แรกของโลกที่นำกากต้นเฉาก๊วยมาสร้างเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดและตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้จริง ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ” ด้วยคุณสมบัติของกากต้นเฉาก๊วยที่ให้ค่าความร้อนที่สูงอยู่แล้ว การนำมาแปรรูปเป็น “เชื้อเพลิงอัดเม็ด” จะยิ่งช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีความแข็งแรงทนทานมาก และไม่ต้องใช้ตัวประสานในการอัดเม็ด จึงทำให้ลดต้นทุนในการผลิต ต่างจากชีวมวลชนิดอื่น ทั้งยังมีคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (มอก.)

ไม่เพียงเชื้อเพลิงอัดเม็ด รองศาสตราจารย์ ดร. ยุวรัตน์ ยังชวนทำความรู้จักกับถ่านชีวภาพ (Biochar) และถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคย คือ ชาร์โคล ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยทีมวิจัยได้นำกากต้นเฉาก๊วยมาผ่านกระบวนการสร้างรูพรุนด้วยการให้ความร้อนและสารเคมี เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของวัสดุให้มีคุณสมบัติในการดูดซับ ก่อนจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้าน Wastewater treatment โดยดูดซับไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และดูดซับสีย้อมเมทิลีนบลู (Methylene Blue Dye) ซึ่งเป็นสีย้อมที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เพื่อลดมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

“ประสิทธิภาพของถ่านชีวภาพจากกากต้นเฉาก๊วยนั้นดียิ่งกว่าถ่านชีวภาพจากซังข้าวโพดหรือเมล็ดทานตะวัน  รวมถึงถ่านกัมมันต์จากวัสดุชีวมวลอีกหลาย ๆ ชนิด” ผลงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชเฉาก๊วยที่ไม่น้อยไปกว่าชีวมวลชนิดอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ทีมวิจัยจะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกากต้นเฉาก๊วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำขี้เถ้าที่เหลือภายหลังการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากกากต้นเฉาก๊วยมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อาจนำมาสร้างเป็นอิฐบล็อกจากขี้เถ้ากาก ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานกับคณะหรือสาขาอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาร่วมกันต่อยอดต่อไป ไม่ให้งานวิจัยหยุดอยู่เพียงบนหิ้งเท่านั้น...


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_282080
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู